กรุงเทพฯ 30 ก.ย. – ก.พลังงาน ย้ำพร้อมดูแลดีเซล หากบี 10 ทะลุ 30 บาท/ลิตร แจงราคาไทยดีดตัวตามราคาตลาดโลก ด้าน กฟผ.คุยนำเข้า LNG ปีนี้ราคาต่ำ
นายสมภพ พัฒนอริยางกูล โฆษกกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่า กระทรวงพลังงาน เตรียมพร้อมใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าอุดหนุนราคาน้ำมัน เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชนทันที หากราคาน้ำมันดีเซลพื้นฐาน (บี 10) มีราคาสูงกว่า 30 บาท/ลิตร ซึ่งในช่วงนี้ขอรณรงค์ให้ประชาชนหันมาเติมน้ำมันดีเซลพื้นฐาน บี 10 ซึ่งมีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซล บี 7 ถึง 3 บาท/ลิตร รวมถึงที่ผ่านมากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ก็ได้ให้การช่วยเหลือราคา LPG โดยตรึงราคาขายปลีกสำหรับถังขนาด 15 กิโลกรัม อยู่ที่ 318 บาท/ถัง (ไม่รวมค่าขนส่ง) ตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา และล่าสุดคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา ให้คงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มข้างต้นออกไปอีก 3 เดือน คือ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
“ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นเป็นไปตามสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจทั่วโลกที่เริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงการเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวของซีกโลกตะวันตก และกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน (กลุ่ม OPEC) ได้มีการควบคุมการผลิตน้ำมันดิบ ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมเตรียมมาตรการรับมือเพื่อบรรเทาผลกระทบ หากดีเซลพื้นฐานปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่า 30 บาท/ลิตร” นายสมภพ กล่าว
ล่าสุดกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) เปิดเผยรายงาน “2021 World Oil Outlook” ว่า ความต้องการน้ำมันทั่วโลกในปี 2566 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 1.7 ล้านบาร์เรล/วัน แตะที่ระดับ 101.6 ล้านบาร์เรล/วัน เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
อย่างไรก็ดี โอเปกได้ปรับลดคาดการณ์ความต้องการน้ำมันในระยะยาว เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการแข่งขันในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า โดยคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกในปี 2573 จะอยู่ที่ 106.6 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งลดลง 600,000 บาร์เรล/วัน จากระดับของปี 2563 และต่ำกว่าระดับที่โอเปกเคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้อยู่ที่ 11 ล้านบาร์เรล/วัน
นางราณี โฆษิตวานิช รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.ได้เจรจาลงนามสัญญาจัดซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) สัญญาระยะสั้นในรูปแบบตลาดจร (Spot) ครบ 4 ลำ (ปริมาณ 6 หมื่นตัน/ลำ) นำเข้าช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ ได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดมาก ทำให้ประเทศได้ประโยชน์จากการช่วยลดผลกระทบค่าไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม กฟผ.คาดหวังที่จะนำเข้า Spot LNG ในลอตสุดท้ายของปีนี้ คือ ช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้ โดยยังรอความชัดเจนด้านนโยบายภาครัฐว่าจะเปิดโอกาสให้รายใดเป็นผู้นำเข้าตามนโยบายส่งเสริมให้ผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) รายใหม่ แข่งขันนำเข้าตามนโยบายส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 ที่เปิดการแข่งขันนำเข้า Spot LNG ปริมาณ 4.8 แสนตัน ในปีนี้ ซึ่งยังเหลือโควตานำเข้าในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้อีกประมาณ 2.4 แสนตัน. – สำนักข่าวไทย