สธ. 29 ก.ย.- “อนุทิน” ลงนามประกาศหลักเกณฑ์ “กองทุนบัตรทองปี 65” ดูแล “ผู้มีสิทธิบัตรทอง” เข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขที่จำเป็นอย่างต่อเนื่อง มีคุณภาพและสร้างความเท่าเทียม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ต.ค. 64 เป็นต้นไป
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้ลงนามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการรับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขหน่วยบริการ พ.ศ. 2564 แล้ว โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป เพื่อดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (กองทุนบัตรทอง) สำหรับประชาชนผู้มีสิทธิในปีงบประมาณ 2565 นี้
ประกาศดังกล่าวครอบคลุมค่าบริการภายใต้กองทุนบัตรทองจำนวน 11 รายการ ดังนี้
- บริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว จำนวน 158,294.42 ล้านบาท
- บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ จำนวน 3,768.11 ล้านบาท
- บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง จำนวน 9,731.34 ล้านบาท
- บริการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง จำนวน 1,154.78 ล้านบาท
- ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,498.29 ล้านบาท
- ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน จำนวน 990.11 ล้านบาท
- ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิ จำนวน 319.28 ล้านบาท
- ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 2,769.93 ล้านบาท
- ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับบริการกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 825.08 ล้านบาท
- เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการและผู้ให้บริการ จำนวน 283.03 ล้านบาท
- ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและปเองกันโรค จำนวน 19,265.42 ล้านบาท
ทั้งนี้ รวมงบประมาณค่าบริการ 11 ราย เป็นงบประมาณจำนวน 198,891.79 ล้านบาท เมื่อหักค่าแรงหน่วยบริการของรัฐในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 58,341.59 ล้านบาท เป็นงบประมาณที่เข้าสู่กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ไม่รวมเงินเดือนหน่วยบริการของรัฐ) จำนวน 140,550.19 ล้านบาท
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า ในส่วนของค่าบริการสาธารณสุขสำหรับบริการกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นอกจากงบประมาณตามรายการข้างต้นนี้ ตามประกาศให้ใช้จ่ายจากเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่อาจเพิ่มเติมจากรายการ “รายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสะสม” และงบประมาณตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา พ.ศ. 2563 ที่จะได้รับ หรืองบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นปีงบประมาณ 2565 ที่จะได้รับ
“ประกาศฉบับนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป ซึ่ง สปสช. ได้จัดสรรและโอนงบประมาณส่วนหนึ่งไปยังหน่วยบริการระบบบัตรทองแล้ว เพื่อให้บริการผู้มีสิทธิบัตรทองภายใต้สิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เกิดการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นและมีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียม ตามนโยบายของรัฐบาลและประธานบอร์ด สปสช. ที่ได้เน้นย้ำและให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพคนไทยทุกคน” เลขาธิการ สปสช. กล่าว .-สำนักข่าวไทย