กสม. 30 ส.ค.-กสม.เปิดเวทีรับฟังความเห็นสิทธิเด็กกับสถานการณ์การชุมนุม “โมเดลสมรภูมิดินแดง” เห็นพ้องให้รัฐเปิดพื้นที่รับฟังเด็ก-เยาวชน ร่วมทำแผนชุมนุมสาธารณะ วางกรอบกติกาชุมนุม
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม.จัดเวทีระดมความคิดเห็น : สิทธิเด็กกับสถานการณ์การชุมนุม (กรณีสามเหลี่ยมดินแดง) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิฯ กล่าวว่า สิ่งที่น่าห่วงคือเด็กในการชุมนุม โดยเฉพาะบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงที่เกิดความรุนแรงขึ้น กสม.คิดว่าเรื่องสิทธิเด็กและการชุมนุมทางการเมืองคงได้รับการปรึกษาหารือ เพื่อปกป้องสิทธิเด็กไม่ให้ถูกละเมิด
นายโยธิน ทองพะวา ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การชุมนุมของเด็กและเยาวชนมาจากความกดดันที่เป็นปัญหามาจาการการไม่สามารถจัดการกับโรคระบาดได้ และปัญหาปากท้อง ที่เยาวชนเข้าไม่ถึงการเยียวยา เป็นการกดทับของหลายๆ ปัญหาจนเขาต้องออกมาเหมือนการปะทุของระบเบิดเวลา โดยการแก้ปัญหา ช่องทางที่รับฟังเสียงไม่ใช่แค่ในช่องทางในปัจจุบัน กลไกการรับฟังควรมีคนที่มีอำนาจในการแก้ปัญหาจริงมารับฟังบ้าง อย่างกรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการออกมารับฟังม็อบนักเรียนเลว
ส่วนระบบการดูแลเด็กในม็อบ นอกจากจะมีนักสังคมสงเคราะห์แล้ว นักสังคมสงเคราะห์จะต้องเป็นคนที่มีความรู้ความเข้าใจ และไม่มีความคิดสุดโต่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และต้องมีความเป็นมิตร เพื่อให้สามารถเข้าถึงเด็กได้ง่ายขึ้น ส่วนการดำเนินคดีเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี ควรมีความแตกต่างจากการดำเนินคดีปกติ เพราะจะกลายเป็นการกดดันเด็ก
ด้าน น.ส.ปิยะนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ทั้งปีที่ผ่านมา มีกว่า 1,500 การชุมนุม โดยในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค. มีเยาวชนเป็นร้อยคนถูกดำเนินคดี บางคนถูกดำเนินคดีแล้ว 18 ครั้ง และทุกคืนมีเยาวชนถูกจับจากการชุมนุม ในช่วงควบคุมตัวเจ้าหน้าที่มีการใช้อำนาจไม่ชอบ ทั้งการล็อกมือไขว้หลัง การยึดโทรศัพท์ หลังจากดำเนินคดียังมีการคุกคามข่มขู่ รวมทั้งการติดตาม ทั้งนี้ควรมีการแยกกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงไม่ใช่ปฏิบัติเหมารวม เพื่อให้การเกมาะสมกับสัดส่วน
อย่างไรก็ตามแม้มีเยาวชนบางกลุ่มมีการใช้ความรุนแรง แต่จะบอกว่าจะใส่ใจแค่เด็กที่ชุมนุมโดยไม่ใช้ความรุนแรงไม่ได้ ดังนั้นจะต้องหาวิธีรับฟังและเข้าใจเด็ก ไม่ควรมองว่าเด็กเป็นคู่ต่อสู้ ที่สำคัญคือการเอาตำรวจที่ทำนอกเหนือหน้าที่มารับผิดชอบ และไม่ควรมีเหตุการณ์รุนแรงหรือเด็กโดนทำร้ายอีกต่อไป
นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า การชุมนุมในพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดง สถานการณ์มีแนวโน้มตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดมีการนัดชุมนุมกันในวันที่ 1 กันยายน ทั้งนี้ข้อกฎหมาย 1.เกี่ยวกับการชุมนุมที่มีปัญหาคือ การจับที่ใช้เครื่องพันธนาการ และมีการใช้กำลังเข้าจับ 2.เรื่องการสอบสวนเด็กและเยาวชนต้องมีผู้ปกครองอยู่ด้วยเสมอ แต่การปฏิบัติของตำรวจมีการยึดมือถือไม่ให้ติดต่อญาติ ทั้งนี้สำหรับการชุมนุมเจ้าหน้าที่ควรให้โอกาสเขาเดินให้ไปถึงบางอย่าง ใกล้เคียงจุดหมายบางอย่างโอกาสที่การใช้ความรุนแรงก็น้อย ทั้งนี้บ้านนายกฯอยู่ในค่ายทหาร หากมีการป้องกันก็เชื่อว่าสามารถควบคุมไม่ให้บุกรุกเข้าในค่ายได้ แต่หากมีผู้ชุมนุมบางคนบุกเข้าไปได้ก็ทำการจับกุมฐานบุกรุกสถานที่ราชการได้ แต่ผู้ชุมนุมสามารถไปถึงหน้าบ้านนายกฯ ตะโกนด่านายกฯ ได้ระบายความอึดอัดจากปัญหา พอถึงกำหนดเวลาก็กลับ แต่ปัญหาคือผู้บัญชาการตำรวจที่ซีเรียสเกินไป โดยการห้ามผู้ชุมนุมไปโดยเด็ดขาด จึงนำไปสู่การบาดเจ็บจำนวนมาก จากการใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยาง และแนวโน้มในอนาคตมีแต่จะชุมนุมถี่ขึ้นและมีโอกาสที่ความรุนแรงจะไต่ระดับเพิ่มขึ้นไปอีก ดังนั้นตำรวจระดับนโยบายควรซีเรียสน้อยลง
อย่างไรก็ตามต้องมองสมรภูมิดินแดงที่เกิดขึ้นว่าเป็นการชุมนุมทางการเมือง ไม่ใช่การจลาจล ไม่ได้ทำความเสียหายต่อประชาชนทั่วไป หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร แต่มีเป้าหมายเฉพาะ และแม้ใช้ความรุนแรงแต่เบื้องหลังความรุนแรงมีสาเหตุและที่มา ต้องแก้ปัญหาที่ที่มาด้วย ไม่ใช่แค่การจับกุม
น.ส.พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ องค์กร Article19 กล่าวว่า การมีเด็กในที่ชุมนุมไม่ใช่ปรากฏการใหม่ของทั่วโลก แต่อาจเป็นปรากฎการณ์ใหม่ของไทย ซึ่งถึงจุดที่เราต้องยอมรับว่ามีเด็กจำนวนมาก ดังนั้นมาตรฐานการปฏิบัติไม่ควรเป็นการใช้วิธีเดียวกับการปฏิบัติกับผู้ใหญ่ รวมทั้งการใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางอาจจะมีผลกระทบระยะยาวต่อเด็กได้ ซึ่งในทางกฎหมายระหว่างประเทศเด็กมีสิทธิประท้วงแสดงความคิดเห็นเท่ากับผู้ใหญ่ แต่เด็กจะได้รับการคุมครองเป็นพิเศษ
ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนควรได้รับการอบรมเรื่องการปฏิบัติต่อเด็กและสิทธิเด็ก ด้วยมาตรฐานระหว่างประเทศ เกี่ยวกับสิทธิการชุมนุมสิทธิเด็ก รวมทั้งรูปแบบการควบคุมตัวก็ควรแตกต่างออกไป นอกจากนั้น กสม.ควรปกป้องเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ถูกนำข้อมูลส่วนตัวมาเปิดเผยในโซเชียลมีเดีย หรือการล่าแม่มด นอกจากนั้นควรเปิดพื้นที่ชุมนุม โดยรัฐต้องคอยปกป้องไม่ให้เกิดความรุนแรง ไม่ใช่การไปบอกว่าห้ามทำอะไรหรือทำอะไร
ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เรื่องสิทธิเด็กกับการชุมนุมเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เป็นการเปลี่ยนสู่สังคม GEN Z ซึ่งเติบโตขึ้นมากับการกล้าแสดงออก และเทคโนโลยีไอที ที่สำคัญคือคนกลุ่มนี้เติบโตมาพร้อมวิกฤติ ทั้งวิกฤติต้มยำกุ้ง ภัยธรรมชาติ สึนามิ และความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งในช่วงเวลา 20 ปี มีนายกฯ และผู้นำรัฐประหาร 10 คน มีการรัฐประหาร 2 ครั้ง ซึ่งการชุมนุมสาธารณะมีมาโดยตลอด แต่ครั้งนี้เป็นการชุมนุมที่มีเด็กและเยาวชนที่ออกมาชุมนุมจำนวนมาก โดยสิทธิการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่จำกัดได้เท่าที่จำเป็นและได้สัดส่วน ผู้ใหญ่ควรฟังอย่างจริงจัง ในข้อเรียกร้องของเด็ก ไม่ใช่ปิดสิทธิของเขา ทั้งนี้ควรปรับทัศนติเรื่องการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ต้องเข้าใจว่าการชุมนุมโดยสงบของแต่ละฝ่ายคืออย่างไร นอกจากนั้นหน่วยงานของรัฐควรมีหน้าที่ปกป้องเด็กในการชุมนุมด้วย เพื่อสนับสนุนการใช้สิทธิของเขา และภาครัฐควรระมัดระวังอย่างมากในการใช้ความรุนแรง ควรมีการจัดทำแผนว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่มุมมองการใช้อำนาจรัฐอย่างเดียว
น.ส.อรพินท์ ศักดิ์เอี่ยม ผู้เชียวชาญด้านเด็ก กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า เห็นด้วยในประเด็นให้เด็กและเยาวชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในทุกเรื่องที่มีผลกระทบต่อตัวเด็กและเยาวชน แต่ต้องอยู่บนหลักการที่ไม่กระทบต่อความคิดเห็นของผู้อื่น ควรเป็นการชุมนุมโดยสงบ และต้องไม่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น ต้องเคารพสิทธิผู้อื่นได้ อย่างไรก็ตามเห็นด้วยกับการเปิดเวทีรับฟังเสียงทุกฝ่าย ซึ่งทางกรมกิจการเด็กและเยาวชน ก็มีช่องทางรับฟังเด็กและเยาวชน ส่วนเรื่องการตอบสนองต่อข้อเสนอแนะแม้จะไม่ได้ 100% แต่ก็พยายามตอบสนอง ส่วนกรณีเด็กและเยาวชนที่ถูกจับกุม ตำรวจมีการประสานให้นักสังคมสงเคราะห์เข้าร่วมด้วยในทุกครั้ง
นายมงคล บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การปฏิบัติกับผู้ชุมนุมที่เป็นเยาวชนควรมีความแตกต่างกับกรณีผู้ชุมนุมทั่วไป รวมทั้งการปฏิบัติกับอาชญากรที่จะต้องมีความแตกต่างกันออกไป ส่วนการแยกแยะกลุ่มผู้ชุมนุมผู้ที่ก่อความรุนแรง และกลุ่มที่ไม่ใช้ความรุนแรง คิดว่าเจ้าหน้าที่จะแยกได้ลำบาก ดังนั้นผู้จัดการชุมนุมจะต้องช่วยปรามในการใช้ความรุนแรง เพราะการออกมาใช้สิทธิจะต้องอยู่บนพื้นฐานสิทธิและผลกระทบของคนอื่นด้วย นอกจากนั้นเด็กเล็กไม่ควรอยู่ในพื้นที่ชุมนุม เพราะหากเกิดความรุนแรงขึ้นจะเป็นอันตราย แต่ไม่ได้หมายความว่าปิดกั้นการแสดงออก ควรจะมีเวทีแสดงออกโดยเฉพาะ.-สำนักข่าวไทย