กรุงเทพฯ 25 ส.ค. – เปิดข้อกฎหมายความผิดคดี “ผู้กำกับโจ้” และพวก พบศาลฎีกาชี้การใช้ถุงพลาสติกคลุมหัวเข้าข่ายเจตนาฆ่า
ว่าที่ พ.ต.สมบัติ วงศ์กำแหง กรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ อดีตเลขาธิการสภาทนายความ ให้ข้อมูลว่า คดีผู้กำกับโจ้ที่เกิดขึ้นจนมีภาพปรากฏตามคลิปไปทั่วนั้น ศาลฎีกามีคำพิพากษาพฤติกรรมในลักษณะนี้ไว้เป็นบรรทัดฐาน คือ คำพิพากษาฎีกาที่ 5332/2560 โดยมีเนื้อหาของคำพิพากษาบางส่วนระบุว่า “จำเลยใช้ถุงพลาสติกซึ่งไม่มีช่องอากาศครอบศีรษะผู้ตาย แล้วใช้เทปกาวพันรอบถุงบริเวณลำคอผู้ตาย แม้จำเลยมิได้ประสงค์จะให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย แต่จำเลยก็ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้ผู้ตายขาดอากาศหายใจ และถึงแก่ความตายได้ จึงถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายแล้ว เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่น”
ส่วนที่จำเลยอ้างว่าไม่มีเจตนาฆ่า เพราะถ้าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายจริง จำเลยก็คงเอามีดแทงหรือบีบคอผู้ตายให้ถึงแก่ความตาย
ไปแล้ว คงไม่ต้องลำบากหาถุงพลาสติกมาครอบศีรษะจำเลยนั้น “เห็นได้ว่าแม้จำเลยจะไม่ประสงค์ต่อผลที่จะให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย คงเพียงแต่จะทรมานผู้ตายเท่านั้น แต่จำเลยย่อมเห็นผลได้ว่าการกระทำดังกล่าวจะทำให้ผู้ตายขาดอากาศหายใจและถึงแก่ความตายได้ จึงถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายแล้ว”
เมื่อเรามาเทียบเคียงกับเหตุการณ์ที่พันตำรวจเอกธิติสรรค์ อุทธนผล อดีตผู้กำกับการ สภ.เมืองนครสวรรค์ ใช้ถุงคลุมหัวผู้ต้องหา เพื่อบังคับให้มอบเงิน 2 ล้านบาท แลกกับการไม่ดำเนินคดี จนผู้ต้องหาเสียชีวิต เป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล มาตรา 288 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มาตรา 157 และเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งมิชอบข่มขืนใจให้มอบทรัพย์สิน ตามมาตรา 148 มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต ชุดจับกุมและลูกน้องตามข่าว หากมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิด หรือช่วยเหลือสนับสนุน ต้องรับโทษด้วยตามมาตรา 83/84 และ 86 ฯลฯ รวมถึงพ่อผู้เสียชีวิตอาจจะมีความผิดสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบด้วย ฯลฯ
โดยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 148 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท หรือประหารชีวิต
มาตรา 83 ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่ สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
มาตรา 84 ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด
มาตรา 86 ผู้ใดกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด แม้ผู้กระทำความผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม ผู้นั้นเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ต้องระวางโทษสองในสามส่วนของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น.-สำนักข่าวไทย