ตรัง 20 ส.ค.- ม.เทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ประสบความสำเร็จในการศึกษาวิจัย เปลี่ยนวิธีเลี้ยงหอยนางรมแบบดั้งเดิม สู่การเลี้ยงในตะกร้าและตะแกรงคอนโด 3 ชั้น เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตได้มากกว่า 7-8 เท่าตัว
นางสาวสุพัชชา ชูเสียงแจ้ว อาจารย์ประจำสาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มทร.ศรีวิชัย ตรัง ลงพื้นที่ติดตามดูความก้าวหน้า โครงการวิจัยการพัฒนาระบบการเลี้ยงหอยนางรมแบบความหนาแน่นสูง เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนลุ่มน้ำปะเหลียน ตำบลวังวน อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ด้วยการถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกรผู้เลี้ยงหอยนางรม บ้านแหลม ซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งอาศัยของหอยนางรม หอยแมลงภู่ในธรรมชาติแหล่งใหญ่ ที่ชาวบ้านมักดำน้ำ และงมหาเป็นประจำ ส่วนการเลี้ยงหอยนางรมที่ชาวบ้านเลี้ยงกันเอง ใช้วิธีเลี้ยงแบบแปะเบี้ยกับปูนซีเมนต์ แล้วผู้เชือกเลี้ยงอนุบาลไว้ในกระชัง เมื่อถึงเวลาก็เก็บขาย แต่ได้น้อย
มทร.จึงถ่ายทอดงานวิจัยส่งเสริมการเลี้ยงในตะกร้า และแบบตะแกรงคอนโด 3 ชั้น เพื่อเพิ่มจำนวนผลผลิต และ เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงหอยนางรมทำให้ได้ปริมาณหอยนางรมเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมถึง 7-8 เท่า หรือประมาณ 7,000 – 8,000 ตัวต่อ 1 กระชัง แต่จะใช้เวลาในการเลี้ยงนานกว่าวิธีเลี้ยงแบบเดิม เนื่องจากลูกหอยจากโรงเพาะฟักจะมีขนาดเล็ก ขณะที่การเลี้ยงหอยนางรมแบบแปะเบี้ยกับปูนซีเมนต์ ซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิม ได้จำนวน 1,000 – 2,000 ตัว ต่อกระชัง.-สำนักข่าวไทย