กรุงเทพฯ 21 ก.ค. – ธปท.รับโควิดกระทบลูกหนี้ เตรียมเข้าดูแลหนี้เกษตรกรปีหน้า และเตรียมออกเกณฑ์ดูแลค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์ หวังให้คิดค่าธรรมเนียมสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะรายย่อย เห็นได้จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 1/64 อยู่ที่ 90.5% ของจีดีพี คิดเป็นมูลค่าหนี้ครัวเรือนประมาณ 14.1 ล้านล้านบาท การแก้หนี้ครัวเรือนจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดยในปีหน้า ธปท. เตรียมที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกรด้วย ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้พักชำระหนี้นั้น ธปท.ชี้แจงว่า การพักหนี้ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน แต่การปรับโครงสร้างหนี้เป็นเรื่องที่ดีและเหมาะสมมากกว่า ที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือน ให้กับนายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ เริ่มตั้งแต่ ก.ค.นี้ ซึ่งถือเป็นมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้อย่างตรงจุด ซึ่งจะเห็นได้ว่ามาตรการที่ ธปท.ออก เน้นไปที่ลูกหนี้รายย่อยและเอสเอ็มอี เพราะมีจำนวนลูกหนี้ที่มากกว่ารายใหญ่ ในขณะที่รายใหญ่นั้น สถาบันการเงินได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลืออยู่แล้ว โดยเห็นได้จากตัวเลขลูกหนี้รายใหญ่ก็เข้ามาขอรับความช่วยเหลืออยู่ที่ 2,060 ราย คิดเป็นเม็ดเงิน 600,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ภายในไตรมาสนี้ (3/64) ธปท.เตรียมออกประกาศหลักเกณฑ์เรื่องการกำกับดูแลค่าธรรมเนียมของธนาคารพาณิชย์กว่า 300 รายการ เพื่อให้การคิดค่าธรรมเนียมสะท้อนต้นทุนและรายได้ที่เกิดขึ้นจริง โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวทุกธนาคารจะต้องทบทวนและเปิดเผยค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจนบนเว็บไซต์ รวมทั้งให้ ธปท. ดึงข้อมูลเพื่อให้ประชาชนเปรียบเทียบเลือกใช้บริการแต่ละธุรกรรมได้ แต่ ธปท.จะไม่กำหนดเป็นอัตราว่าค่าธรรมเนียมแต่ละประเภทจะอยู่ในสัดส่วนเท่าใด เนื่องจากต้นทุนแต่ละธนาคารแตกต่างกัน และทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างธนาคาร อย่างไรก็ดี หลังประกาศหลักเกณฑ์ไปแล้ว ธปท.จะสุ่มตรวจอีกครั้งว่า อัตราค่าธรรมเนียมของแต่ละธนาคารเป็นอย่างไร สอดคล้องกับต้นทุนธนาคารหรือไม่. – สำนักข่าวไทย