รัฐสภา 2 มี.ค.- สนช. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ เพื่อบูรณาการการบริหารจัดการทรัพย์กรน้ำอย่างสอดคล้องกันในทุกมิติ แต่เสนอให้ประชาพิจารณ์ และวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบด้าน
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (2 มี.ค.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดย พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงสาระสำคัญว่า เพื่อบูรณาการเกี่ยวกับการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ บำรุงรักษา และอนุรักษ์ทรัพย์กรน้ำ ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างสอดคล้องกันในทุกมิติ อย่างสมดุลและยั่งยืน
“นอกจากนี้ ยังวางหลักเกณฑ์ประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ให้เข้าถึงทรัพยากรน้ำสาธารณะ รวมทั้ง จัดให้มีองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งในระดับชาติ ระดับลุ่มน้ำ และระดับองค์กรผู้ใช้น้ำ ซึ่งสะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อร่วมกันบริหารทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ” พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าว
ขณะที่ สมาชิก สนช.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับนี้ และเสนอว่า รัฐต้องทำประชาพิจารณ์ และวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบด้าน ขณะเดียวกัน แสดงความห่วงเรื่องความไม่เป็นเอกภาพของกฎหมายในบางมาตรา เนื่องจากโครงสร้างของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ มีอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำเป็นเลขานุการ จึงเป็นห่วงเรื่องการบูรณาการทำงานกับหน่วยงานอื่น อีกทั้ง ในบางมาตรา ยังต้องอ้างอิงกับกฎหมายฉบับอื่น ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำ จึงไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายนี้ ที่ต้องการให้มีการบูรณาการจัดการน้ำร่วมกัน
นอกจากนี้ ยังเป็นห่วงเรื่องการเก็บค่าใช้น้ำสาธารณะกับเกษตรกร ที่อาจเกิดปัญหาการไม่ยอมรับ เพราะเป็นประเด็นที่อ่อนไหว และในอนาคต เมื่อฝ่ายการเมืองเข้ามามีบทบาท และอาจนำประเด็นนี้ไปหาเสียง และทำให้ สนช.ถูกโจมตีที่ผ่านกฎหมายฉบับนี้ได้
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุม สนช. มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ด้วยคะแนน 222 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง ก่อนตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ 25 คน กรอบการทำงาน 60 วัน แปรญัตติ 15 วัน .- สำนักข่าวไทย