รัฐสภา 7 มิ.ย. – วุฒิสภาอนุมัติ พ.ร.ก.ลดดอกเบี้ยช่วย SME ด้านรัฐมนตรีคลัง ยืนยันเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมแก่ลูกหนี้ รวมถึงสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ
การประชุมวุฒิสภา เวลา 10.00 น. วันนี้ (7 มิ.ย.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยที่ประชุมได้พิจารณาพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรลงมติอนุมัติแล้ว
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหนี้คำนวณอัตราดอกเบี้ยจากลูกหนี้ในอัตราหรือวิธีการที่ก่อให้เกิดภาระแก่ลูกหนี้สูงเกินสมควร ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468 จึงไม่สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้ลูกหนี้ได้รับความเดือดร้อนจากภาระดอกเบี้ยที่สูงเกินสมควร
ทั้งนี้ การแก้ไขกำหนดให้ปรับลดจากอัตราร้อยละ 7.5 เป็นอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งกระทรวงการคลังจะทบทวนทุก 3 ปี ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ รวมทั้งกำหนดฐานการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ของลูกหนี้ในงวดใดงวดหนึ่ง เจ้าหนี้ต้องคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดได้เฉพาะจากเงินต้นของงวดที่ลูกหนี้ผิดนัดเท่านั้น ไม่ให้คำนวณจากเงินคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นที่ค้างอยู่ทั้งหมด ซึ่งเชื่อว่าพระราชกำหนดนี้จะลดภาระการเสียดอกเบี้ยของลูกหนี้ในอัตราที่สูงเกินสมควร เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมแก่ลูกหนี้ ที่สำคัญยังช่วยลดจำนวนการฟ้องร้องดำเนินคดี และลดโอกาสให้การเกิดหนี้เสียสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศได้
ด้านสมาชิกวุฒิสภา ต่างสนับสนุนหลักการของพระราชกำหนดนี้ เพราะเชื่อว่าจะทำให้ลูกหนี้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น ลดการฟ้องร้องดำเนินคดีระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ อีกทั้งจะเกิดประโยชน์กับระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมจากปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ขณะที่นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ระบุว่า การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 เกี่ยวกับการกำหนดอัตราดอกเบี้ยกรณีผิดนัดชำระ ซึ่งได้ให้อำนาจเจ้าหนี้สามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งตนเห็นว่าในพระราชกำหนดฉบับนี้ยังไม่มีการกำหนดเงื่อนไขของการใช้เหตุอย่างอื่นเพื่อเรียกดอกเบี้ยให้ชัดเจน ดังนั้น จะทำให้เจ้าหนี้อาจใช้ช่องว่างดังกล่าวทำข้อตกลงเพื่อเรียกเก็บดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม การคำนวณดอกเบี้ยตามมาตรา 224 ยังไม่ครอบคลุมถึงหนี้ที่ไม่มีสัญญา ส่วนการแก้ไขเพิ่มมาตรา 224/1 ที่ให้เจ้าหนี้คิดอัตราดอกเบี้ยเฉพาะงวดที่ผิดนัดชำระเท่านั้น ถือว่าสร้างความเป็นธรรมกับลูกหนี้ แต่อาจจะทำให้เจ้าหนี้หลีกเลี่ยงการกำหนดฐานการคำนวณอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระ และเกรงว่าจะนำไปสู่การบังคับให้ลูกหนี้ต้องชำระหนี้ทั้งหมด
ด้านนายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา สนับสนุนพระราชกำหนดฉบับนี้ พร้อมตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการกำหนดอัตราดอกเบี้ย เพราะจะทำให้บุคคลหันไปทำสัญญากับฝ่ายที่มีการกำหนดดอกเบี้ยที่ชัดเจน ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณไปถึงคู่สัญญาว่าต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้ชัดเจน แต่ในทางตรงกันข้ามถือว่าสิทธิตามกฎหมายยังไม่เป็นจริง และรัฐอาจนำมาเป็นเงื่อนไขในอนาคตได้ อีกทั้งเสนอเปิดโอกาสให้กับกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะกลุ่มคนพิการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้มากกว่าเดิม ไม่ควรอยู่ภายใต้ข้อจำกัดใดๆ ไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติ เนื่องจากกลุ่มคนพิการต้องประสบปัญหาธุรกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นกัน ในที่สุดแล้วที่ประชุมมีมติอนุมัติพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ด้วยคะแนนเสียง 201 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 5 เสียง.- สำนักข่าวไทย