รัฐสภา 31 พ.ค.- นายกรัฐมนตรี ใช้เวลากว่าชั่วโมงครึ่ง แจงร่าง พ.ร.บ.งบปี 65 วอน ส.ส.ใช้เวลา 3 วัน อย่างสร้างสรรค์ เพื่อลูกหลาน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชี้แจงภาพรวมการจัดทำงบประมาณปี 2565 กว่า 3.1 ล้านล้านบาท ว่า การกำหนดงบขาดดุลเป็นประมาณการ จากข้อจำกัดและความเสี่ยงของความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศที่ยังมีความรุนแรงและยืดเยื้อ รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัวและปัญหาภัยแล้ง จึงคาดว่าเงินเฟ้อปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 1.0-2.0 คาดการณ์จีดีพีปีนี้ ร้อยละ 4.0-5.0 ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยภายนอกที่มีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่ปัจจัยภายในเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยวช่วงปลายปี แต่ต้องอยู่ภายใต้การกระจายวัคซีนและการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ และคาดการณ์ว่า รัฐบาลจะจัดเก็บรายได้สุทธิกว่า 2,400,000 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 10.26 ขณะที่เงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในภาวะแข็งแกร่ง พร้อมยืนยันว่า การจัดทำงบประมาณนี้มีเป้าหมายให้ประเทศพัฒนาอย่างยั่งยืน เศรษฐกิจได้รับการฟื้นฟูจากผลกระทบโควิด-19 พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้นและปรับโครงสร้างพื้นฐานทั่วถึงและเป็นธรรม
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง 30 นาที ในการชี้แจงรายละเอียดว่า มีการจัดให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน เช่น ด้านความมั่นคง ได้จัดงบประมาณในด้านต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ จำนวน 5,938 ล้านบาท ในการธำรงไว้ ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ การถวายความปลอดภัย รวมถึงขับเคลื่อนการพัฒนาตามแนวทางพระราชดำริ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ยังมีงบประมาณในการรักษาความสงบในประเทศ การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาการค้ามนุษย์และปราบปรามยาเสพติด เป็นต้น ขณะที่ยุทธศาสตร์ด้านอื่น ๆ ประกอบด้วย การสร้างความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ การพัฒนาระบบคมนาคม พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก การสร้างรายได้จาการท่องเที่ยว เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมียุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ยุทธศาสตร์การเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยุทธศาสตร์สุดท้าย การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ เช่น การต่อต้านการทุจริต นโยบายรรัฐบาลดิจิทัล และการพัฒนากฎหมายเป็นต้น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยืนยัน การจัดงบประมาณปี 2565 คำนึงถึงการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ รวมถึงเงินคงคลัง และเงินกองทุนสำรองจ่าย
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี ยืนยันจะเข้มงวดกวดขัน ต่อการใช้จ่ายงบประมาณ ป้องกันการทุจริต และให้ตรวจสอบได้โดยองค์กรอิสระนอกจากนี้ ประชาชนสามารถสอดล่องได้หากงบอะไรไม่เป็นผลสัมฤทธิ์ก็สามารถแจ้งได้
“ผมหวังว่าสมาชิกทุกคนจะได้พิจารณาอย่างถี่ถ่วน เพราะที่นี่คือประเทศไทย ทำเพื่อคนไทยที่รัก ต้องช่วยกันดูแล ขอให้ใช้เวลาที่มี 3 วัน อย่างสร้างสรรค์เพื่อลูกหลาน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย