กรุงเทพฯ 25 พ.ค.-ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 ฉบับที่ 2 วงเงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำไปใช้แก้ปัญหาการแพร่ระบาด-เยียวยาจากปัญหาโควิด-19 รมว.คลังมั่นใจกู้ช่วยจีดีพีโคอีก1.5% และไม่เกินกรอบเพดานหนี้สาธารณะ
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชกำหนดให้กระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงินไม่เกิน 500,000 ล้านบาท เป็นผลสืบเนื่องมาจกการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 อย่างต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนและต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างหนักหน่วง และกว้างขวาง เป็นวิกฤติสำคัญที่จำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร่งด่วน และต่อเนื่องกับการแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้ดำเนินการอยู่ จึงเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ และป้องกันภัยพิบัติสาธารณะ จึงจำาเป็นต้องตราพระราชกำหนดฉบับนี้ี้ โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ ตามมาตรา 3 ได้ให้อำนาจกระทรวงการคลังโดยผ่านอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี มีอำนาจกู้เป็นเงินบาท หรือ เงินตราต่างประเทศ หรือ ออกตราสารหนี้ ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยมีมูลค่ารวมกันไม่เกิน 500,000 ล้านบาท โดยต้องลงนามในสัญญากู้เงิน หรือ ออกตราสารหนี้ ภายในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2565 และในมาตรา 5 กำหนดให้นำเงินไปใช้เพื่อการอื่นนอกเหนือจากรายการดังต่อไปนี้ไม่ได้ คือ
1) เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท
2) เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 วงเงิน 3 แสนล้านบาท
3) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 มีกระแสนข่าวว่า เงินกู้ดังกล่าวจะมีเม็ดเงินไม่เกิน 700,000 ล้านบาท แต่หลังจากที่ พ.ร.ก.ฉบับนี้ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ปรากฎว่าได้มีการปรับลดวงเงินกู้เหลือไม่เกิน 5 แสนล้านบาท
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวถึงการออก พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มอีก 5 แสนล้านบาท ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ แล้ว จะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยในปี 64 และปี 65 ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 1.5% จากกรณีฐานที่ทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ประมาณการไว้ในช่วง 1.5-2.5% และการกู้เงินเพิ่มดังกล่าวไม่เกินกรอบเพดานหนี้สาธารณะที่กำหนดไว้ โดยคาดการณ์ว่าเมื่อกู้เต็มวงเงินในเดือน ก.ย.64 หนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะอยู่ที่ 58.56% ต่อจีดีพี
ทั้งนี้ การออกพ.ร.ก.กู้เงินดังกล่าวนั้น เป็นเงินกู้เพื่อดูแลสถารณ์โควิด-19 ฉบับที่สอง เป็นกฎหมายเฉพาะตามมาตรา 53 ในพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง 2561 ที่กำหนดว่า การออกกฎหมายที่นอกเหนือจากพ.ร.บ.หนี้สาธารณะให้ออกกฎหมายเฉพาะมีเงื่อนไขว่า เป็นเรื่องของกฎหมายเฉพาะ เป็นเรื่องความจำเป็นเร่งด่วน เป็นความต่อเนื่อง แก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ และไม่สามารถตั้งงบประมาณประจำปีได้ทัน ซึ่งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.)ได้ดำเนินการเรื่องกู้เงินอย่างระมัดระวัง ดูทั้งตลาดเงินและตราสารหนี้และช่วงเวลาเหมาะสมให้เกิดประโยชน์ประเทศมากสุด
พ.ร.ก.ดังกล่าว เป็นการกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศ หรือออกตราสารหนี้ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกรอบไม่เกิน 5 แสนล้านบาท โดยต้องลงนามในสัญญากู้เงินหรือออกตราสารหนี้ภายใน 30 ก.ย.2565 รัฐบาลจะนำไปใช้จ่ายวัตถุประสงค์ 3 แผนงาน โดยกรณีจำเป็นคณะรัฐมนตรีสามารถอนุมัติปรับกรอบภายในกรอบ 3 วัตถุประสงค์ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินสอดคล้องสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่นายกรัฐมนตรีเป็นห่วง คือ เอสเอ็มอีและไมโครเอสเอ็มอี ซึ่งส่วนที่ผู้ประกอบอาชีพหรือธุรกิจรายเล็กรายน้อยได้รับความช่วยเหลือปีที่แล้วจากโครงการต่างๆของกระทรวงการคลังไม่ว่าจะเป็นคนละครึ่ง เราชนะ ม.33 เรารักกัน ซึ่งผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่เป็นนิติบุคคลนั้น ก็ได้รับประโยชน์จากโครงการต่างๆเหล่านี้
“ ตั้งแต่ม.ค.64 โควิด-19 รุนแรงขึ้น แพร่กระจายรวดเร็วและติดเชื้อวงกว้างทั่วประเทศ กระทบต่อการฟื้นตัวต่อกิจกรรมเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาลจำเป็นเร่งด่วนต้องเตรียมงบเพิ่มเติม จึงได้ตรา พ.ร.ก. เพื่อให้รัฐบาลมีงบเพิ่มเติมได้อย่างต่อเนื่องในการดูแล เพื่อให้เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็ว และเติบโตยั่งยืนภายหลังการระบาดโควิด-19ยุติลง โดยปีที่แล้วเราคาดการณ์ติดลบ 8% แต่เมื่อมีมาตรการต่างๆ ก็ช่วยให้ติดลบน้อยลงเหลือลบ 6% ฉะนั้น ในทางบวกก็เหมือนกัน การที่เราคำนวณค่ากรณีฐาน ถ้ามีมาตรการเสริมเข้ามาและมีมาตรการการคลัง จะทำให้รัฐบาลสามารถดำเนินมาตรการเศรษฐกิจได้เหมาะสมและเพียงพอ จะทำให้การคาดการณ์เศรษฐกิจดีขึ้น”รมว.คลังกล่าว /สำนักข่าวไทย