ทำเนียบ วันนี้ (24 พ.ค. ) ศบค. เผยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 2,713 ราย “กทม.- เพชรบุรี”พบผู้ติดเชื้อสูง จับตาคลัสเตอร์ในจังหวัดสมุทรปราการ ขณะที่เรือนจำแนวโน้มดี ผู้ป่วยลดลง
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,713 ราย แบ่งเป็นติดเชื้อในประเทศ 2,507 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 206 ราย พบผู้ป่วยยืนยันสะสม 132,213 ราย รักษาหายป่วยเพิ่ม 1,565 ราย สะสม 86,100 ราย กำลังรักษาอยู่ 45,307 ราย แบ่งเป็นรักษาในโรงพยาบาล 18,753 ราย และโรงพยาบาลสนาม 26,554 ราย เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,169 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 406 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 30 ราย รวมเสียชีวิต 806 คน
ผู้ติดเชื้อรายใหม่ แบ่งเป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 2,713 ราย เป็นผู้ติดเชื้อจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,147 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 1,311 ราย จากเรือนจำ/ที่ต้องขัง 206 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้า State Quarantine 49 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิตทั้ง 30 ราย อยู่ใน กทม. 11 ราย นครราชสีมา ราชบุรี จังหวัดละ 3 ราย สมุทรสาคร สมุทรปราการ จังหวัดละ 2 ราย ปทุมธานี สกลนคร ตาก อยุธยา เชียงราย สุรินทร์ ชัยภูมิ นนทบุรี ชัยนาท จังหวัดละ 1 ราย โรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ยังเป็นปัจจัยหลักเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรค ปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 จากการสัมผัสผู้ติดเชื้อที่เป็นคนในครอบครัว อายุค่ากลาง 67 ปี อายุน้อยสุด 28 ปี อายุมากสุด 105 ปี รักษานานที่สุด 35 วัน และมี 7 คนเสียชีวิตในสัปดาห์แรก และบางคนไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อ พอพบว่าติดเชื้อทำให้อาการแย่ลง
แนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 24 พ.ค. 2564 จากระบบเฝ้าระวังยังมีแนวโน้มคงตัว จากการคัดกรองเชิงรุกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนในเรือนจำและที่ต้องขังมีแนวโน้มลดลง
ผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศวันนี้ ผู้ติดเชื้อมาจากอินเดีย 6 ราย เป็นคนไทยทั้งหมด เป็นการเดินทางกลับบ้าน คนไทยในกัมพูชาขอเดินทางกลับไทยเยอะขึ้น ทำให้พบเยอะขึ้น วันนี้เพิ่ม 41 ราย แต่ยังมีพบการลักลอบเข้ามา โดยพบจำนวน 2 ราย ส่วนที่เหลือเข้ามาถูกต้อง การลักลอบเข้าประเทศยังคงมีอยู่ ในระดับไม่ต่ำกว่า 100 ราย วานนี้ พบ 105 ราย โดยเฉพาะฝั่งเมียนมามากที่สุด 57 ราย และจะมีความเข้มงวดมากขึ้นในการลักลอบเข้าประเทศ รวมถึงการสืบสวนตั้งแต่ต้นทาง ถึงปลายทาง เช่น โรงงาน, ผู้อำนวยความสะดวก ให้กลุ่มผู้ลักลอบเข้ามาจะมีการดำเนินการทางกฎหมายเด็ดขาด
สถานการณ์ในประเทศ ในพื้นที่ กทม. จังหวัดเพชรบุรี ยังคงพบผู้ป่วยเพิ่มสูง จังหวัดสมุทรปราการ มีการพบคลัสเตอร์ในคอนโดฯ แห่งหนึ่ง ซึ่งพบผู้ป่วยแล้ว 81 ราย กำลังอยู่ในระหว่างการสอบสวนและสรุปข้อมูลเพิ่ม แนวโน้มในหลายจังหวัดดีขึ้น และในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล จำนวนผู้ป่วยอาการหนักและที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจยังคงตัว ส่วนจังหวัดอื่นจำนวนผู้ป่วยอาการหนักยังคงตัว ส่วนที่ต้องใส่เครื่องช่วยยหายใจมีจำนวนลดลง
ส่วน 10 อันดับ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศ วันนี้ คือ 1. กรุงเทพมหานคร 951 ราย 2. เพชรบุรี 669 ราย 3. สมุทรปราการ 180 ราย 4. ชลบุรี 106 ราย 5. นนทบุรี 92 ราย 6. สมุทรสาคร 43 ราย 7. ปทุมธานี 38 ราย 8. สงขลา 36 ราย 9. ระนอง 30 ราย 10. นครปฐม 28 ราย
ทั้งนี้พบ 27 จังหวัด ที่ไม่พบผู้ป่วยเพิ่มในวันนี้ คือ ขอนแก่น, พัทลุง, พิษณุโลก, ลำพูน, กระบี่, ลำปาง, อ่างทอง, สุรินทร์, เพชรบูรณ์, กำแพงเพชร, นครพนม, น่าน, ชุมพร, กาฬสินธุ์, พะเยา, เลย, แพร่, อุตรดิตถ์, ชัยนาท, หนองคาย, พังงา, อำนาจเจริญ, แม่ฮ่องสอน, มุกดาหาร, อุทัยธานี, บึงกาฬ, สตูล และหากเอาสีเขียวกับสีขาวรวมกัน จำนวนผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 10 ราย พบถึง 55 จังหวัด ส่วนสีแดงพบผู้ติดเชื้อเกิน 100 ราย คือ กรุงเทพมหานคร เพชรชบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี
สำหรับปัจจัยเสี่ยง 3 อันดับแรก คือ 1.ผู้สัมผัส 33% 2.ในเรือนจำและที่ต้องขัง 25% 3.ชุมชน พื้นที่เสี่ยง แออัด 13% ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่ตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย. – 23 พ.ค. 2564 มาจากการสัมผัสผู้ป่วย สัมผัสใกล้ชิดกันในครอบครัว ที่ทำงาน การติดเชื้อในชุมชน พื้นที่เสี่ยง แออัด ติดเชื้อในเรือนจำและที่ต้องขัง
ส่วนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกเดือนเมษายน เริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย. 2564 เป็นต้นมา พบผู้ติดเชื้อแล้ว 103,350 ราย เป็นผู้ติดเชื้อที่ตรวจพบในระบบเฝ้าระวังและบริการ 65,199 ราย ตรวจพบจากการค้นหาคัดกรองเชิงรุก 18,033 ราย เรือนจำ/ที่ต้องขัง 15,819 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ 485 ราย หายป่วยสะสม 58,674 ราย เสียชีวิตสะสม 712 ราย
ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลก ยอดผู้ติดเชื้อรวม 167,518,744 ราย อาการรุนแรง 96,937 ราย รักษาหายแล้ว 148,531,144 ราย เสียชีวิต 3,478,243 ราย อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 33,896,660 ราย 2. อินเดีย จำนวน 26,751,681 ราย 3. บราซิล จำนวน 16,083,573 ราย 4.ฝรั่งเศส จำนวน 5,603,666 ราย 5. ตุรกี จำนวน 5,186,487 ราย โดยประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 87 จำนวน 132,213 ราย .- สำนักข่าวไทย