ญี่ปุ่น 13 เม.ย.-ญี่ปุ่นตัดสินใจเดินหน้าแผนปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะกว่า 1 ล้านตัน สู่ทะเล ในอีก 2 ปี ข้างหน้า เมินชาวบ้านคัดค้าน และถูกเพื่อนบ้านประท้วง
นายกรัฐมนตรีโยชิฮิเดะ สุหง่ะ ของญี่ปุ่น แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ว่า รัฐบาลจะรับประกันความปลอดภัยให้อยู่เหนือมาตรฐานของกฎระเบียบที่มีอยู่ ภารกิจงานปล่อยน้ำปนเปื้อนสู่ทะเลจะเริ่มขึ้นในอีกประมาณ 2 ปีข้างหน้า และคาดว่าจะใช้เวลานับสิบปีกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมด เพื่อที่จะรื้อฟื้นหลังจากเกิดภัยพิบัติธรรมชาติแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในพื้นที่แถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือและคลื่นยักษ์สึนามิจนเกิดวิกฤตินิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ ที่เพิ่งผ่านมาครบ 10 ปี
อย่างไรก็ตาม ต่อมามีชาวญี่ปุ่นชุมนุมประท้วงหน้าทำเนียบนายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้ทบทวนยกเลิกการตัดสินใจครั้งนี้ เพราะเกรงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับทางการเกาหลีใต้ ออกมาแถลงประท้วงการตัดสินใจของรัฐบาลญี่ปุ่นในเรื่องนี้
ตามแผนของรัฐบาลนั้นน้ำที่จะถูกปล่อยสู่ทะเล จะผ่านการบำบัดจนสารกัมมันตภาพรังสีเจือจางเกือบหมด เหลือเพียงไอโซโทปกัมมันตรังสี “ทรีเทียม” ซึ่งจะต้องบำบัดต่ออีกจนไอโซโทปทรีเทียม เจือจางถึงระดับมาตรฐานของชาติ และได้มาตรฐานน้ำดื่มขององค์การอนามัยโลก หรือ ดับเบิลยูเอชโอ และยังขอความร่วมมือจากสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล หรือ ไอเออีเอ ขอการสนับสนุนจากประมงท้องถิ่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และภาคเกษตร ในกรณีที่เกิดความเสียหายเกิดขึ้นตามมาจากแผนนี้ ขอให้บริษัทเทปโก เจ้าของโรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ ไดอิจิ เป็นผู้จ่ายค่าชดเชยต่อไป
ด้านนายโคบายาคาวะ โทโมอากิ ประธานบริษัทเทปโก ระบุเทปโกจะทำงานอย่างหนักและรับผิดชอบอย่างเต็มที่เพื่อสร้างสมดุลระหว่างงานฟื้นฟูท้องถิ่นกับภารกิจยกเลิกการใช้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ต้องใช้เวลาหลายปี.-สำนักข่าวไทย