ทำเนียบฯ 30 มี.ค.-ครม. เห็นชอบแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัล 2563 – 2565 เร่งเดินหน้าสู่รัฐบาลดิจิทัล หวังลดการใช้เอกสาร อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เตรียมงบ 6 พันล้านบาท รองรับ
นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติ แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย 2563-2565 ภายใต้วิสัยทัศน์ “รัฐบาลดิจิทัล เปิดเผย เชื่อมโยง และร่วมกันสร้างบริการที่มีคุณค่าให้ประชาชน” ให้ความสำคัญ 6 ประเด็น ได้แก่ การศึกษา สุขภาพและการแพทย์ การเกษตร ความเหลื่อมล้ำทางสิทธิสวัสดิการประชาชน การมีส่วนร่วม โปร่งใสและตรวจสอบได้ของประชาชน และการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) หวังลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการและสวัสดิการของประชาชน เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับเอสเอ็มอี การทำงานของภาครัฐมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาและกำหนดนโยบายสำคัญของประเทศ
โดยแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลฯ ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ เตรียมกรอบงบประมาณ 6,504 ล้านบาท ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยกระดับคุณภาพการให้บริการแก่ประชาชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ยุทธศาสตร์ที่ 2 อำนวยความสะดวกภาคธุรกิจไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ยุทธศาสตร์ที่ 3 ผลักดันให้เกิดธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐในทุกกระบวนการทำงานของภาครัฐ และยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนร่วมขับเคลื่อนรัฐบาลดิจิทัล โดยโครงการสำคัญ อาทิ การพัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการประชาชนแบบเบ็ดเสร็จ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลเกษตรกร ระบบรับคำขออนุญาตเพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจ การพัฒนาศูนย์กลางการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ การพัฒนาระบบรับฟังความคิดเห็นประชาชนผ่านช่องทางดิจิทัล รวมทั้งการปรับปรุงหรือแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจนโยบายของรัฐ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของไทย มีความก้าวหน้ามากขึ้น หลายหน่วยงานได้ลดจำนวนเอกสาร ต้องยื่นประกอบการพิจารณาใบอนุญาต ปรับกระบวนงานและการให้บริการให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) และพัฒนาแพลตฟอร์ม (e-Government) เข้ามาช่วยในการบริหารงานระหว่างรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐหรือรัฐบาลของรัฐอื่น (Government to Government :G2G) รัฐบาลและองค์กรธุรกิจ (Government to Business : G2B) รัฐบาลและประชาชน (Government to Citizen: G2C) เพื่อรองรับกิจกรรมและธุรกรรมระหว่างภาครัฐ เอกชนและประชาชน พร้อมเร่งพัฒนาปัจจัยพื้นฐานของสถาปัตยกรรมรัฐบาลดิจิทัล อาทิ การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลสำหรับบุคลากรภาครัฐ การจัดทำนโยบาย กฎหมายและกฎระเบียบ รวมทั้งการจัดทำมาตรฐาน (Standard) เพื่อขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการไปสู่รัฐบาลดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ.- สำนักข่าวไทย