โรงแรมมาริออท 13 ก.พ.- “วิรัช” ไม่พบสัญญาณพรรคร่วมโหวตสวนมติ แต่ท้ายที่สุดมติต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ห่วง “บิ๊กป้อม” ถูกอภิปราย – แจงให้ “วิษณุ” เป็นวิทยากร เพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญ
นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล กล่าวถึงการซักซ้อมเวทีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันนี้ ว่า เป็นการให้รัฐมนตรีแต่ละท่านที่จะถูกอภิปรายมาฟังความคิดเห็นจากบรรดา ส.ส.ในพรรคร่วมรัฐบาลที่ถือเป็นสนามซ้อมใหญ่ และเป็นการพบปะพูดคุยกันหากมีประเด็นที่เคลือบแคลงสงสัย ก็จะได้เบาใจลงได้บ้าง ส่วนกรณีที่พรรคเล็กมีแนวโน้มว่าจะโหวตไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี หากรัฐมนตรีชี้แจงไม่ชัดเจนนั้น นายวิรัช ระบุว่าส่วนตัวได้มีการพูดคุยกับพรรคเล็กอยู่บ้าง แต่ยังไม่พบว่ามีสัญญาณที่บ่งบอกเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลก็ควรมีแนวทางไปในทิศทางเดียวกัน โดยจะมีการประชุมร่วมวิปรัฐบาลและประชุมพรรคพลังประชารัฐกันอีกครั้ง ในช่วงเช้าของวันที่ 16 กุมภาพันธ์ อย่างไรก็ตาม มติของแต่ละพรรคก็จะต้องรอฟังการอภิปรายของรัฐมนตรีก่อน แต่สุดท้ายก็จะต้องเป็นมติของวิปรัฐบาลที่จะต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ส่วนกังวลรัฐมนตรีท่านใดเป็นพิเศษหรือไม่นั้น นายวิรัชยังไม่ขอตอบ ยังไม่สามารถตอบได้ และขอตอบในวันพรุ่งนี้ เพราะมีกระแสข่าวจากทุกทิศทาง พร้อมระบุว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ มีความน่าเป็นห่วงน้อยที่สุด เพราะไม่มีอะไรต้องห่วง อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ไม่จำเป็นต้องเกร็งข้อสอบเพราะเห็นข้อสอบอยู่แล้ว ในญัตติของฝ่ายค้านที่ได้ส่งมา และจากการแถลงข่าวของฝ่ายค้านเองในแต่ละครั้ง หากมีการอภิปรายใดที่ไม่ตรงตามเนื้อหาและพาดพิงถึงสถาบัน ก็คงจะต้องมีการประท้วง ซึ่งคาดว่าจะไม่มีการประชุมลับในประเด็นนี้
ส่วนที่เชิญนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีมาเป็นวิทยากรในการติวครั้งนี้นั้น เพราะเห็นว่านายวิษณุเป็นกูรูที่สำคัญที่สุด และมีความชำนาญในทางการถูกซักฟอกและเป็นผู้ซักฟอก ซึ่งสามารถเป็นแนวทางให้รัฐมนตรีที่ถูกซักฟอกนำไปใช้ได้ อย่างไรก็ตามในวันอภิปราย รัฐมนตรีที่ไม่ถูกอภิปรายก็จะเข้าร่วมด้วย เพื่อเป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน จะไม่ปล่อยให้รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายเหงาและเดียวดาย ทุกทิศทางจะต้องพร้อมสนับสนุนข้อมูล
นายวิรัช ยังได้กล่าวถึงคำร้องที่ส่งศาล รธน. วินิจฉัยอำนาจของรัฐสภา ในการตั้ง ส.ส.ร. เพื่อยกร่าง รธน. ฉบับใหม่ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ว่า หากศาลฯ ชี้ว่าการยกร่างฉบับใหม่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ยังมีช่องทางตามกฎหมายในการแก้ รธน. คือ การแก้ไขแบบรายประเด็น
นายวิรัช ยังชี้แจงว่า หากไม่ส่งศาล รธน. วินิจฉัย จะมั่นใจได้อย่างไรว่า เมื่อถึงการพิจารณาในวาระ 3 ช่วงสมัยวิสามัญ รัฐสภาจะได้เสียงสนับสนุนที่เพียงพอ โดยเฉพาะเสียงให้ความเห็นชอบจาก ส.ว. เพราะที่ผ่านมา ก็ได้พยามสร้างความเข้าใจ ตั้งแต่การตั้ง กมธ. ก่อนรับหลักการ เพื่อให้ ส.ว. เข้าใจความคิดและเจตนาในการแก้ไข รธน. พร้อมกับย้ำว่า ขณะนี้ กมธ. ได้พิจารณาร่าง รธน. แล้วเสร็จ และเตรียมเข้าวาระที่ 2 ในวันที่ 24-25 ก.พ. นี้ ยืนยันว่ารัฐบาล ไม่ได้เข้ามาแทรกแซงสั่งการ การทำงานของ กมธ. ทั้งนี้นายวิรัช ยังกล่าวตัดพ้อว่าการแก้ไข รธน. ครั้งนี้เจอปัญหาและอุปสรรคมากที่สุด .-สำนักข่าวไทย