ทำเนียบ 9 เม.ย.-“ชูศักดิ์” ย้ำสถานบันเทิงครบวงจร เป็นนโยบายของรัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา ไม่ใช่เรื่องพรรคใดพรรคหนึ่งทำโดยพลการ หลังเลขาฯ ภูมิใจไทย ประกาศกลางสภาฯ ไม่เอากาสิโน
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีย์รัมย์ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ประกาศกลางสภาไม่รับร่าง พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ว่า ต้องฟังอีกทีหนึ่งว่าท้ายที่สุดผลจะเป็นอย่างไร การประกาศก็ว่ากันไป แต่ละคนมีสิทธิ์ที่จะพูด ส่วนคำว่าสถานบันเทิงครบวงจรตนไม่อยากให้ใช้คำว่ากาสิโน เพราะเป็นเพียงส่วนหนึ่ง เพราะหากจะทำเรื่องนี้ไม่ใช่ทำแค่กาสิโนอย่างเดียว ต้องขออนุญาตทำใน 9 ประเภท อย่างน้อย 4 อย่างถึงจะอนุญาตได้ เช่น จะทำสถานบันเทิง สนามกีฬา โรงแรมหรือพูดง่ายๆจะทำกาสิโนอย่างเดียวไม่ได้ หากจะถามว่าเรื่องนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลหรือไม่ อันนี้ตนมองว่า เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อเป็นนโยบายรัฐบาล และแถลงต่อรัฐสภา จึงต้องถามว่า ใครเป็นรัฐบาลบ้าง เพราะก่อนที่จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหลายก็ไปร่วมประชุมกันตกลงว่าจะทำอย่างไร จะแก้รัฐธรรมนูญ จะทำสถานบันเทิงครบวงจร จึงแถลงต่อรัฐสภา จึงต้องพูดอย่างตรงไปตรงมาว่าไม่ใช่เรื่องพรรคใดพรรคหนึ่งมาทำโดยพลการ แต่เป็นเรื่องของนโยบายถ้ารัฐบาลไม่ทำตามนโยบายก็ถูกว่าอีกว่าไม่ทำตามนโยบายที่แถลงไว้ แต่พอสถานการณ์เป็นอย่างนี้แล้วใครจะพูดอย่างไรก็สุดแล้วแต่ แต่รัฐบาลต้องมีความชอบธรรมที่จะพูดว่าสิ่งที่ทำคือนโยบาย แต่เมื่อบอกว่าเลื่อนไปก่อน เพื่อไปพูดจา ทำความเข้าใจให้ชัดเจน ตนมองว่า รัฐบาลก็ทำด้วยความชอบธรรม
เมื่อถามว่านโยบายของรัฐบาลคือการทำแหล่งท่องเที่ยวที่ถูกสร้างขึ้น (Man-made Destination) จะสามารถตัด 10% ของกาสิโนออกไปได้หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า หลักแล้วคือสถานบันเทิงครบวงจร ทั่วโลกเขามีแบบนี้ มันจะมีพวกนี้อยู่ด้วย รัฐบาลก็พยายามอธิบายว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่ง มีอยู่นิดเดียว เมื่อใครจะมาทำก็ต้องทำอย่างน้อย 4 อย่างมาจดทะเบียนในประเทศไทย มีเงินชำระแล้วไม่ต่ำกว่าหมื่นล้าน ตนก็มองว่าชัดเจนว่าต้องการทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น หาเงินเข้าประเทศ รวมไปถึงให้คณะกรรมการกฤษฎีกายกร่าง โดยยกร่างด้วยความรอบคอบรัดกุม แต่ขณะนี้มีการวิจารณ์กันไป จึงอยากย้อนถามว่า มันเป็นนโยบายของรัฐบาลไม่ใช่หรือ แต่ใครจะไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลในตอนนี้ก็ไปว่าอีกเรื่องหนึ่ง
เมื่อถามต่อว่าพรรคภูมิใจไทยไม่เอาด้วยกับเรื่องนี้หากจะหาความชอบธรรมให้ได้ควรมีการทำประชามติหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญจะพูดว่าพรรคนั้นพรรคนี้ไม่เอา ตนยังไม่อยากจะพูดอย่างนั้น เมื่อนโยบายของรัฐบาลมันเป็นแบบนี้ก็ต้องว่ากันไป แต่ถามว่าจะทำประชามติหรือไม่ ก็อีกเรื่องหนึ่ง ประชามติจะทำได้หรือใครจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะต้องอนุมัติ
ส่วนร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในญัตติของสภาฯแล้วจะสามารถทำประชามติเมื่อใดก็ได้ใช่หรือไม่ เพียงแต่ต้องให้ ครม.เป็นผู้อนุมัติ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ก็ต้องเสนอ ครม. เพราะมันต้องใช้เงินงบประมาณ 3,000 ล้าน ส่วนจะทำประชามติพร้อมกับการแก้รัฐธรรมนูญเลยหรือไม่ก็แล้วแต่ อันนั้นก็ไปคิดกันในอนาคต แต่ตนว่า ช่วงเวลาสองเดือนกว่าๆ ไตร่ตรองกันให้รอบคอบ
ส่วนกรณีที่ สว.ตั้งกรรมาธิการศึกษาล่วงหน้า 180 วันให้แล้วเสร็จก่อน จึงจะสามารถ พิจารณาได้ในชั้นสว.ได้ใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า กฎหมายประเภทนี้เป็นกฎหมายการเงินไม่จำเป็นต้องรอ 180 วัน ซึ่งเขามีข้อบังคับว่าสามารถศึกษาไปก่อนล่วงหน้าได้ ส่วนต้องรอ 180 วันหรือไม่ก็แล้วแต่เขา ก็ให้พิจารณากันไป เพียงแต่ยับยั้งพัก 10 วันไม่ใช่ 180 วันเหมือนกฎหมายประชามติ
เมื่อถามย้ำถึงเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องนโยบายรัฐบาลแล้วพรรคร่วมรัฐบาล ควรเห็นไปในทิศทางเดียวกันใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ ย้อนกลับว่า ก็ลองคิดดูแล้วกัน เพราะตอนแถลงนโยบายของรัฐบาล เมื่อเป็นพรรคร่วมแล้วแถลงมาแบบนี้ก็ขอให้ไปคิดกันดูว่าเป็นอย่างไร
เมื่อถามต่อว่าพรรคร่วมจะยังอยู่ร่วมรัฐบาลกันได้หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ไม่รู้ ตนไม่ทราบเหมือนกัน ส่วนจะเขย่าเสถียรภาพรัฐบาลหรือไม่ ขอให้มองในภาพรวม ตนไม่อยากไปฟันธงว่าพรรคนั้นเอา พรรคนี้ไม่เอา.-316.-สำนักข่าวไทย