กรุงเทพฯ 27 ม.ค. – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลุยตรวจความพร้อมรถไฟชานเมืองสายสีแดง บางซื่อ- ตลิ่งชัน พร้อมสั่งบอร์ด รฟท. สรุปแผนสร้างรายได้พื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ ต้องมีรายได้ปีละ 400 ล้าน ห้ามขาดทุนเป็นภาระรัฐ ส่วนการยกเลิกเดินรถเข้าหัวลำโพง ให้ปลัดคมนาคมศึกษาแผนรองรับคนใช้บริการรถไฟสายสั้นภายใน 1 เดือน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเดินทางตรวจเยี่ยม สถานีกลางบางซื่อ และโดยสารรถไฟชานเมืองสายสีแดง ไปยังสถานีปลายทางตลิ่งชัน พร้อมกับผู้บริหาร กระทรวงคมนาคม บอร์ด และผู้บริหารการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โดยรัฐมนตรีคมนาคม ระบุว่า จากการตรวจสอบความพร้อมของระบบเดินรถไปสถานีตลิ่งชัน รวมถึงความพร้อมของพื้นที่สถานีในตลอดเส้นทาง วันนี้ได้กำชับให้ รฟท.ปรับปรุงพื้นที่สถานีทุกแห่งให้มีความพร้อมมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา สถานีหลายแห่งได้มีการก่อสร้างเสร็จนานแล้ว จำเป็นต้องมีการบำรุงรักษาให้พร้อมตามกำหนดการ ที่จะเริ่มเดินรถทดสอบเสมือนจริงในเดือนมีนาคม 2564 ,เริ่มเปิดให้ประชาชนทดลองใช้ฟรี ในเดือนกรกฎาคมนี้ และเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ โดยทุกรายละเอียดจะต้องพร้อมที่สุด แม้แต่ความสะอาดของห้องน้ำภายในพื้นที่สถานีด้วย
ส่วนเรื่องการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ของสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ มีพื้นที่ใช้สอย 298,200 ตารางเมตร จากแผนเดิมที่รฟท.เสนอมาว่า ก่อนจะมีการประกวดราคาหาเอกชนมาบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ โดยวิธีการลงทุนแบบ PPP ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3-4 ปี โดยก่อนหน้านั้น จนถึงปี 2567 รฟท.จะเป็นผู้บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์เอง ซึ่งแผนของ รฟท.เบื้องต้น ระบุว่าจากปัจจุบันจนถึงปี 2567 จะมีค่าใช้จ่ายในการเดินรถ บริหารพื้นที่ทั้งหมด ประมาณ 1,400 ล้านบาท แต่จะสามารถหารรายได้ได้เพียง 200 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งแผนแบบนี้เห็นว่า แค่คิดก็ขาดทุนแล้ว จึงได้ให้นโยบาย ให้ไปปรับแผนใหม่ เพื่อให้การดำเนินงาน ต้องไม่ขาดทุน ทำให้โครงการฯกลายเป็นภาระกับรัฐ ต้องนำเงินมาอุดหนุนอีก ซึ่งแผนการดำเนินการสร้างรายได้นี้ สั่งการให้ บอร์ดการรถไฟ หารือผู้บริหาร จัดทำแผนหารายได้ให้แล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์ ก่อนนำมาเสนอให้นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนรายงานให้ตนทราบ
“ ได้สั่งการว่าในช่วงเวลานี้จนถึงปี 2567 รฟท.ต้องหารายได้จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์สถานีกลางบางซื่อ ซึ่งใช้เงินลงทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาท ก่อนที่เอกชนจะเข้ามาบริหารพื้นที่แบบ PPP รฟท.ต้องหารายได้เฉลี่ยปีละ 400 ล้านบาท เพื่อไม่ให้เกิดภาวะขาดทุนขึ้นอีก ที่ผ่านมาหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม หลายแห่ง เช่น ทอท. ก็มีประสบการในการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบิน ซึ่งสามารถนำเอาความรู้มาปรับใช้ ในการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ของสถานีกลางบางซื่อได้ ” นายศักดิ์สยามกล่าว
ส่วนประเด็นการปิดใช้สถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) ที่กระทรวงคมนาคม ต้องการให้การเดินรถไฟทางไกล ทั้งหมด มาสิ้นสุดที่สถานีกลางบางซื่อ เพื่อให้การเดินระบบรถไฟ ไม่ก่อปัญหาจราจรจรติดขัด ในเมืองชั้นใน ไม่เกิดปัญหามลพิษ โดยการเดินรถเข้าเมือง จะต้องทำเท่าที่จำเป็น และทำช่วงหลังเวลา 22.00 น.เท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมา มีความกังวลว่า จะกระทบกับประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟชานเมือง สายสั้น เข้าออกระหว่างเมืองช่วงเช้าและเย็น จะได้รับผลกระทบนั้น รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม ระบุว่า ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงคมนาคม ศึกษาหาระบบการเดินทางเชื่อมต่อ รองรับการเดินทางของผู้โดยสารกลุ่มนี้ โดยให้หารือร่วมกับ รฟท.สรุปแผนดังกล่าวภายใน 1 เดือน
รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม ยังกล่าวถึง ปัญหาที่รฟท. มีการยกเลิกเดินขบวนรถเชิงพาณิชย์ และล่าสุดเชิงสังคมอีก 57 ขบวน ทำให้เกิดปัญหา ผู้ใช้บริการใช้รถเชิงสังคมบ่นว่า มีรถไม่เพียงพอนั้น นายศักดิ์สยามระบุว่า ได้สั่งการให้ รฟท. บริหารการเดินรถที่ยังเดินรถบริการอยู่ ต้องสอดคล้องกับช่วงเวลาที่ผู้โดยสารต้องการใช้บริการด้วย . – สำนักข่าวไทย