กรุงเทพฯ 25 ม.ค.- “ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” ผู้ว่าการ รฟม.โต้ “สามารถ ราชพลสิทธิ์” ยืนยันราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้ม ในปีเปิดให้บริการ (2566 หรือ 2567) มีราคาแค่ 15 – 45 บาท เป็นราคาที่มีที่มาที่ไป คือ เทียบเคียงค่าโดยสารสายสีน้ำเงิน – ม่วง คำนวณจากดัชนีราคาผู้บริโภค (Non-food) และมีการสำรวจความเห็นผู้ใช้บริการ -เทียบระบบขนส่งอื่น
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. เปิดแถลงข่าวถึงประเด็นที่นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียวิจารณ์ว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้ม เมื่อเปิดให้บริการแล้ว ราคาก็จะแพงเช่นกัน ในช่วงที่มีการโต้ตอบเรื่องปัญหาการขยายสัมปทานและราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเขียว ระหว่างกระทรวงคมนาคมและกรุงเทพมหานคร ที่กำกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
โดยนายภคพงศ์ ระบุว่า ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งในปีเปิดให้บริการ คือ ระหว่างปี 2566 หรือ 2567 ซึ่งคาดการณ์อัตราค่าโดยสารของสายสีส้มตะวันออก (ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) จะมีราคาที่ 15 – 45 บาท เป็นราคาที่มีที่มาที่ไป และจะเป็นราคาที่ รฟม.จะใช้เจรจากับเอกชนที่ชนะการประมูลในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกด้วย ส่วนราคาที่มีการกล่าวอ้างถึงที่ค่าโดยสารเริ่มต้น 17 บาท และมีการคิดค่าโดยสารตามระยะทาง 3 – 4 บาทต่อสถานีโดยมีอัตราค่าโดยสารสูงสุด 62 บาท เมื่อผู้โดยสารเดินทางตั้งแต่ 12 สถานีขึ้นไป อัตราดังกล่าวเป็นแค่อัตราที่ระบุในเอกสารสำหรับคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนแบบ PPP อ้างอิง ณ วันที่ 1 มกราคม 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับเอกชนทุกราย ในการประเมินรายได้จากการลงทุน
ทั้งนี้ราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ราคา 15 – 45 บาท ยืนยันว่าเป็นราคาที่มีที่ไปที่มา โดยเป็นการคำนวณตามดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI Non-food มีการเทียบเคียงกับราคาค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงในปัจจุบัน มีการสำรวจความเห็นของผู้ใช้บริการ และเทียบเคียงกับระบบขนส่งสาธารณะอื่น โดยยืนยันว่าวิธีดังกล่าวนั้นซึ่งมีการใช้คำนวณค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในปัจจุบัน ซึ่งมีการคำนวณเพื่อปรับราคาค่าโดยสารทุก 2 ปี หากราคาดัชนีผู้บริโภคไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับลดลงในบางปี ราคาค่าโดยสารก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นแล้วในอดีต 7 – 8 ปีที่ผ่านมา
“ยืนยันว่า รฟม. มีความเข้าใจในเรื่องของการกำหนดราคาค่าโดยสารที่จะต้องพิจารณาเป็นโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าทั้งหมด โดยหากมีการกำหนดค่าโดยสารที่แพงเกินไปก็จะส่งผลกระทบ ทำให้ประชาช เข้ามาใช้ระบบน้อยหรือไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ซึ่งเป็นเรื่องที่ รฟม.ให้ความสำคัญ” นายภคพงค์ กล่าว
ทั้งนี้ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จากฐานข้อมูลของ รฟม.ขณะนี้เมื่อมีการเปิดให้บริการในปี 2567 ในส่วนของสายสีส้มตะวันออก จะมีผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่วันละกว่า 100,000 คน เมื่อมีการเปิดให้บริการครบทั้งเส้นรวมกับสายสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ซึ่งจะเปิดให้บริการในปี 2569 ก็จะมีผู้ใช้บริการมากกว่าวันละ 400,000 คน
ส่วนปัญหาข้อพิพาทในการเปิดประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการชี้ขาดของศาลปกครองสูงสุด ผู้ว่าการ รฟม. ระบุว่า หากศาลมีคำวินิจฉัยถึงที่สุดแล้วจะใช้ระยะเวลาอีกประมาณ 2 เดือนในการเดินหน้าโครงการหรือประมาณเดือนมีนาคม 2564 โดยปัญหาดังกล่าวจะยังไม่ส่งผลกระทบต่อกรอบเวลาการดำเนินการและต้องปรับเวลาในการเปิดให้บริการของโครงการรถไฟฟ้าช่วงนี้แต่อย่างใด.- สำนักข่าวไทย