รัฐสภา 21 ม.ค.-รัฐบาลแจงสภาฯ ย้ำมีมาตรการดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด19 ระลอก 2 ยันคุมสถานการณ์ 4 จังหวัดตะวันออกได้แล้ว จำเป็นต้อง ขอคุณผู้ประกอบการร่วมมือไม่เคลื่อนย้ายแรงงาน
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันนี้(21 ม.ค.) มีนายศุภชัย โพธ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 เป็นประธาน ที่ประชุมพิจารณากระทู้ถามด้วยวาจาจากส.ส. โดย นางอนุสรี ทับสุวรรณ ส.ส.พรรครวมพลังประชาชาติไทย ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกรณีการดูแลแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโรค โควิด-19 ว่ามีมาตรการอย่างไรและเยียวยาอย่างไรบ้าง
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชี้แจงว่า ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานใช้งบประมาณชดเชยเยียวยาให้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการว่างานและถูกเลิกจ้างเพราะโรคโควิด-19 ไปแล้วกว่า 15,000 ล้านบาทในการระบาดระลอกแรก ส่วนการระบาดระลอก 2 กระทรวงแรงงานไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยออกกฎกระทรวงเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในระยะ 3 เดือน เช่น การช่วยเหลือค่าจ้างคนละครึ่งกับนายจ้าง ลดเงินสมทบประกันสังคมให้เหลือ 3% พร้อมทั้งสนับสนุนการลงพื้นที่ ช่วยผู้ประกอบการตรวจคัดกรองโรค เชิงรุก ทำให้ต่างประเทศชื่นชมมาตรการของรัฐบาลไทยว่าสามารถควบคุมโรคในโรงงานอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี
นายเรวัต วิศรุตเวช ส.ส. พรรคเสรีรวมไทย ถามนายกรัฐมนตรีว่ามีแนวทางการป้องกันการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร รวมถึงเมื่อประกาศล็อกดาวน์ ประชาชนได้รับผลกระทบจึงอยากจะให้รัฐบาลทบทวนมาตรการล็อกดาวน์เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน มีมาตรการให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างไรบ้าง
นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายเป็นผู้ตอบกระทู้แทนนายกรัฐมนตรี โดยยอมรับว่าการประกาศ ล็อกดาวมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชน มีชีวิตความเป็นอยู่ลำบากมากขึ้น แต่ด้วยการระบาดในระลอกที่ 2 จำเป็นต้องเพิ่มมาตรการให้เข้มข้น โดยเฉพาะพื้นที่ 5 จังหวัดทั้งสมุทรสาคร ระยอง จันทบุรี ชลบุรี และตราด ที่ต้องเข้มงวดกว่าพื้นที่อื่นๆ เพื่อแลกกับการควบคุมสถานการณ์ให้ได้โดยเร็วที่สุด ยืนยันว่าขณะนี้ทุกพื้นที่ 4 จังหวัดไม่รวมสมุทรสาคร สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้แล้ว แต่สมุทรสาคร อาจพบตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงรายวัน อันเนื่องมาจากการลงพื้นที่ตรวจหาเชื้อเชิงรุก
“ส่วนเรื่องการปราบปรามบ่อนการพนันและแรงงานประเทศเพื่อนบ้านผิดกฎหมาย เป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคงที่ต้องชี้แจง ผมไม่สามารถตอบแทนนายกรัฐมนตรีได้ ส่วนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งรัฐบาลและกระทรวงการคลังดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่รับความเดือดร้อน และลดผลกระทบให้ได้โดยเร็วที่สุด ส่วนการคลายมาตรการที่เข้มงวดต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อของแต่ละจังหวัดจะพิจารณา หากเห็นว่าพื้นที่ไหนสามารถคลายล็อกได้ ก็สามารถดำเนินการได้ทันที ตามความเหมาะสม” นายสาธิต กล่าว
สำหรับการควบคุมแรงงานประเทศเพื่อนบ้านในจังหวัดสมุทรสาครไม่ให้เดินทางออกนอกจังหวัด นายสาธิต กล่าวว่า กระทรวงแรงงานออกคำสั่งห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานออกต่างจังหวัดแล้ว พร้อมทั้งขอความร่วมมือโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ให้กักตัวแรงงานของตัวเองและตรวจหาโรคเชิงรุกตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการ ยืนยันได้ว่าจะไม่มีแรงงานเคลื่อนย้ายออกจากจังหวัดสมุทรสาครแน่นอน.-สำนักข่าวไทย