กรุงเทพฯ 11 ม.ค.- การระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 อาจเป็นผลดีต่อสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เพราะไม่มีคนเข้าไปเที่ยว ธรรมชาติก็ได้ฟื้นฟูตัวเอง แต่ไม่ใช่กับศูนย์การเรียนรู้ป่าชายเลนบางขุนเทียนใน กทม.ที่ตอนนี้รอคอยให้สถานการณ์โควิดคลี่คลาย เพื่อให้นักท่องเที่ยว ประชาชนมาช่วยปลูกป่าแก้ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะแนวชายฝั่ง
จากพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม เพราะปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะแนวชายฝั่ง ซึ่งส่งผลต่อระบบนิเวศ และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน นำมาสู่การพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ป่าชายเลนบางขุนเทียน สถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แห่งเดียวในกรุงเทพฯ โดยใช้จักรยานปั่นไป-กลับ ด้วยระยะทาง 8 กิโลเมตร นอกจากเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ยังได้สัมผัสกับความสวยงาม สูดอากาศบริสุทธิ์ของป่าชายเลนพื้นที่เดียวในกรุงเทพฯ ที่ติดทะเลอ่าวไทย ทุกคนยังมีส่วนร่วมช่วยกันฟื้นฟูระบบนิเวศ ด้วยการปลูกต้นโกงกาง รักษาสมดุลของระบบนิเวศ ช่วงเวลาปกติจะมีนักท่องเที่ยว ห้างร้านบริษัทมาร่วมทำกิจกรรมปลูกป่า 3-4 วันต่อสัปดาห์ จนตอนนี้มีป่าโกงกางเพิ่มขึ้นถึง 233 ไร่ แต่การมาของโควิด-19 ทำให้นักท่องเที่ยวหายไป แต่การฟื้นฟูจะหยุดตามโรคไม่ได้ โดยเจ้าหน้าที่ไม่กี่สิบคนยังคงเดินหน้าเพาะกล้า ปลูก และดูแลต้นโกงกางอย่างต่อเนื่อง แต่พลังคนที่ลดลง ทำให้แต่ละวันปลูกได้ไม่มาก เจ้าหน้าที่บอกว่าตอนนี้ทำได้เท่าที่มีกำลัง หวังว่าโควิดจะหมดไป เพื่อรอนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชม พร้อมช่วยกันฟื้นฟูป่าชายเลน ที่ยังมีความต้องการอีกหลายร้อยไร่
สำหรับประชาชน และนักท่องเที่ยว ที่ห่วงใยและสนใจมาร่วมฟื้นฟูธรรมชาติด้วยกัน ที่ ศูนย์การเรียนรู้ป่าชายเลนบางขุนเทียน ยังมาได้ตามปกติ โดยมีมาตรการป้องกันโควิด-19 ทั้งการให้นักท่องเที่ยวสวมหน้ากากอนามัย การตรวจวัดอุณหภูมิ และเว้นระยะห่างเพื่อความปลอดภัย.-สำนักข่าวไทย