กรุงเทพฯ 7 ม.ค.- BGRIM รุกตลาดไฟฟ้าIPS เจรา มิกซ์ยูส รู้ผล ปี 64 รองรับทั้งจำหน่ายสินค้าอุตสาหกรรมในเครือ และ การนำเข้าแอลเอ็นจี
นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) เปิดเผยว่า ในขณะนี้ ได้เจรจากับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ 5-6 โครงการ ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง เช่น โครงการมิกซ์ยูส ขนาดใหญ่ หากใช้การบริหารจัดการเพื่อลดค่าไฟฟ้า ทั้งรูปแบบ โซลาร์รูฟท็อป การใช้ผนัง หน้าต่าง อุปกรณ์ และเทคโนโลยีต่างๆ ที่กลุ่มบีกริมเป็นทั้งผู้ผลิตและนำเข้าอุปกรร์เหล่านี้ ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า ที่แต่ละเดือนค่อนข้างสูง และทำให้ประเทศลดการลงทุนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันมีลูกค้าอยู่ 5-6 โครงการ ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลที่ให้ความสนใจจะใช้บริการของบริษัท เบื้องต้นคาดว่าจะมีความชัดเจนในปี 64
แผนงานดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายของบริษัทที่เตรียมรุกตลาดผลิตไฟฟ้าโดยเอกชนที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองหรือจำหน่ายให้ลูกค้าตรง โดยไม่ขายเข้าระบบของการไฟฟ้า (Independent Power Supply: IPS) สำหรับลูกค้ากลุ่มอาคาร หรือศูนย์การค้า ซึ่งจะเป็นลูกค้ากลุ่มใหม่ นอกเหนือจากปัจจุบันที่มีตลาด IPS อยู่แล้วในกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่ซื้อไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) และกลุ่มลูกค้าโซลาร์รูฟท็อป ที่ใช้บริการติดตั้งและทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัท
นอกจากนี้ยังรองรับการขยายงานตามแผน ที่ บริษัท จะนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG ) เข้ามา จำหน่าย โดยปัจจุบันบริษัทมีใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) สำหรับการนำเข้า LNG ซึ่งเบื้องต้นเป็นการนำเข้ามาเพื่อใช้สำหรับโรงไฟฟ้าของบริษัทในส่วนที่เกินจากสัญญารับซื้อก๊าซธรรมชาติกับ บมจ.ปตท. (PTT) แต่ต่อไปในอนาคตมองโอกาสที่จะนำเข้าเพื่อมาใช้ผลิตไฟฟ้าป้อนกลุ่ม IPS โครงการใหม่ ๆ รวมถึงการขายให้กับภาคอุตสาหกรรมซึ่งก็จะทำให้มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำลงด้วย
นายนพเดช กรรณสูต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส-การเงินและบัญชี ของ BGRIM กล่าวว่า ต้นทุนดำเนินงานสำหรับตลาด IPS กลุ่มอาคารลดต่ำลงจากการพัฒนาเทคโนโลยี ที่สามารถรองรับการผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กราว 20-30 เมกะวัตต์ (MW) เพื่อใช้เฉพาะพื้นที่ ซึ่งอาจจะเป็นอาคารเดี่ยว หรือกลุ่มอาคาร ทั้งในนิคมอุตสาหกรรม หรือกลุ่มอาคารมิกซ์ยูส ซึ่งการแข่งขันการนำเข้าก๊าซฯ ราคาลดลง ผุ้ใช้ก็จะได้ประโยชน์ โดยขณะนี้ ราคาก๊าซฯที่ ปตท.จำหน่ายให้ผู้ผลิตไฟฟ้าประเภท SPP มีราคาก๊าซฯเฉลี่ยราว 230 บาท/ล้านบีทียู ราคาขายโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) จะมีต้นทุนก๊าซฯต่ำสุด มีราคาถูกกว่ากลุ่ม SPP ราว 9 บาท/ล้านบีทยู และลูกค้าอุตสาหกรรมจะใช้ก๊าซฯแพงกว่ากลุ่ม SPP -สำนักข่าวไทย