สำนักข่าวไทย 27 พ.ย.- MEA ต่อยอดพัฒนานวัตกรรมในชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ สนับสนุนระบบรดน้ำอัตโนมัติด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และเซ็นเซอร์ตรวจจับความชื้นในดิน
เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2563 นายชาญเวช ยุวชิต ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA เป็นประธานในพิธีส่งมอบระบบรดน้ำอัตโนมัติด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และเซ็นเซอร์ตรวจจับความชื้นในดินให้แก่ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ เพื่อเป็นการต่อยอดพัฒนานวัตกรรมในชุมชน ภายใต้โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน ประจำปี 2563 ของ MEA ณ ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ เขตคลองเตย กทม.
ผู้ช่วยผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า MEA มีภารกิจในการจ่ายกระแสไฟฟ้า และให้บริการด้านระบบไฟฟ้าแก่ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ โดคำนึงถึงคุณภาพความเชื่อถือได้ของระบบ และความปลอดภัยของผู้ใช้ไฟฟ้า รวมทั้งให้ความสำคัญด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีประเด็นที่สำคัญคือ การใช้ทักษะ และความรู้ความชำนาญขององค์กร ในการช่วยเหลือ สนับสนุน และพัฒนาชุมชนในเขตพื้นที่จำหน่าย เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากยิ่งขึ้น โดยวัตถุประสงค์ของกิจกรรมในวันนี้ เพื่อส่งมอบ “ระบบรดน้ำอัตโนมัติด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และเซ็นเซอร์ตรวจจับความชื้นในดิน” ให้แก่ศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ ซึ่งเป็นผลงานนวัตกรรมจากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ENnovation School ที่ MEA สนับสนุนงบประมาณและควบคุมการดำเนินงาน เมื่อปี 2562 มาประยุกต์ใช้ในศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่
ทั้งนี้ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ ตั้งอยู่บนพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ภายในชุมชนมีการรวมกลุ่มจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ผลิตสินค้าเพื่อจำหน่าย เป็นรายได้เสริมของสมาชิก อาทิ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและดูแลเส้นผม (แชมพู/ครีมนวดผมมะกรูดใบย่านาง ครีมนวดผมมะพร้าว เซรั่มบำรุงผมน้ำมันมะกอก) ซึ่งเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ชุมชน และผักปลอดสารพิษ (ต้นอ่อนทานตะวัน วอเตอร์เครส) ซึ่งเป็นอีกผลิตผลจากการที่ชุมชนนำพื้นที่ว่างเปล่าประมาณ 30 ตร.ม. มาดำเนินการปลูกผักสวนครัวปลอดสารพิษนานาชนิด เพื่อจำหน่ายและแจกจ่ายให้คนในชุมชนด้วย ตามปกติแล้วสวนผักดังกล่าวจะมีสมาชิกผู้รับผิดชอบผลัดกันมาดูแล เพาะพันธุ์ และรดน้ำเป็นประจำทุกวัน ในช่วงเช้า เย็น หรือตามสะดวก ปัญหาที่พบบ่อยคือ สมาชิกเป็นผู้สูงอายุต้องรดน้ำทุกวันขณะรดน้ำต้นไม้ในพื้นที่ทางเดินที่แคบ/จำกัด อาจไม่ค่อยสะดวก รวมทั้งปริมาณน้ำและระยะเวลาที่ใช้รด อาจมีปริมาณน้ำส่วนเกินที่สูญเสียไป หรือปริมาณน้ำที่น้อยไปจนกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืชผักเกิดขึ้นได้
ด้วยเหตุนี้ MEA จึงร่วมกับชุมชน เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการใช้แรงงานของสมาชิกที่เป็นผู้สูงอายุ จัดการการใช้ทรัพยากรน้ำให้เหมาะสมกับสภาพความต้องการ ด้วยการนำองค์ความรู้และความสามารถด้านพลังงานไฟฟ้ามาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว และสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่คนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน จึงเป็นที่มาของการนำนวัตกรรม “ระบบรดน้ำอัตโนมัติด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และเซ็นเซอร์ตรวจจับความชื้นในดิน” ซึ่งเป็นผลงานนวัตกรรมจากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ที่เคยเข้าร่วมโครงการนวัตกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษา หรือ ENnovation School ของ MEA เมื่อปี 2562 มาประยุกต์ใช้ในศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ โดยมี MEA ช่วยสนับสนุนงบประมาณ และช่วยตรวจสอบระบบอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหลังจากที่ปรับปรุงแก้ไขและปรึกษากับชุมชนแล้ว ก็ได้ออกแบบ ระบบ เขียนโปรแกรม และอุปกรณ์ รวมถึงโครงสร้างทั้งหมด โดยคำนึงถึงความคุ้มค่า ความสะดวกในการใช้งาน ความง่ายในการดูแลรักษา นอกจากนี้ น้อง ๆ นักเรียนจาก รร.อัสสัมชัญธนบุรี ยังได้ช่วยกันปรับปรุงหลังคาส่วนเพาะชำต้นอ่อน (ชั่วคราว) ให้กลับมามีสภาพใช้งานได้อีกครั้ง ด้วยการใช้แผ่นป้ายไวนิลที่ไม่ใช้แล้ว มาทดแทนหลังคาเดิมที่ชำรุด ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวถือเป็นการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกัน ระหว่าง MEA ชุมชน และสถานศึกษา ในพื้นที่จำหน่ายของ MEA อย่างเห็นผลเป็นรูปธรรมรวมทั้งเป็นการเสริมสร้างเครือข่ายชุมชนให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น
พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร
Energy for city life, Energize smart living