กรุงเทพฯ 24 พ.ย. พีเทค เพิ่มความสามารถตรวจสอบมาตรฐานแบตเตอรี่ยานยนต์ไฮบริดแบบปลั๊กอิน ตั้งเป้าร่วมดันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ของเอเชีย
นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่าภารกิจของ สวทช. ในการพัฒนา การตรวจสอบมาตรฐานแบตเตอรี่ยานยนต์ ว่าภายหลังจากที่ได้ลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีและสนับสนุนการทดสอบแบตเตอรี่ในยานยนต์ไฟฟ้า กับบริษัท เมอร์เซเดส – เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด สวทช.ได้มอบหมายให้ศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ (พีเทค) จัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบแบตเตอรี่ทั้งในระดับเซลล์ โมดูล และแบตเตอรี่แพ็ค และจัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบยานยนต์ไร้คนขับแห่งอนาคตแบบครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทยขึ้น โดยเป็นทำการทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศไทย เริ่มต้นจากการทดสอบแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด รวมถึงการทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ประเภท BEV เพื่อรองรับการมาถึงของรถยนต์กลุ่มนี้ในอนาคต
ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวอีกว่า ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกค่ายทั่วโลก กำลังแข่งขันกันพัฒนาแบตเตอรี่ยานยนต์เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่ในขณะเดียวกันลิเธียมซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของแบตเตอรี่เป็นสารที่ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนง่ายและอาจเกิดการติดไฟขึ้นได้ ดังนั้นจึงต้องมีการควบคุมกระบวนการผลิตการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ การดูแลรักษาและการซ่อมบำรุงที่ถูกต้อง หลายประเทศได้กำหนดมาตรฐานแบตเตอรี่ชนิดนี้และบังคับใช้ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ขับขี่และผู้สัญจรร่วมทางให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งหากประเทศไทยสามารถเป็นผู้นำในการตรวจสอบมาตรฐานแบตเตอรี่ยานยนต์ในภูมิภาคเอเชียได้ ก็จะสามารถดึงดูดให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศมีความมั่นใจและเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ในประทศไทยมากขึ้น เพราะสามารถลดต้นทุนในการตรวจสอบมาตรฐานได้
ด้านนายไกรสร อัญชลีวรพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สวทช. กล่าวว่า ความก้าวหน้าในการตรวจสอบมาตรฐานแบตเตอรี่ยานยนต์ไฮบริดแบบปลั๊กอิน ว่า พีเทค ได้เพิ่มขีดความสามารถในการตรวจสอบประสิทธิภาพการชาร์จ – ดิสชาร์จ ทำให้สามารถประเมินอายุการใช้งาน รวมถึงการรับประกันแบตเตอรี่ที่ยาวนานได้ การเพิ่มความสามารถในการตรวจสอบความปลอดภัยของแบตเตอรี่เมื่อเกิดการจมน้ำ การเพิ่มความสามารถในการทดสอบสภาวะการทำงานของแบตเตอรี่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิแบบทันทีทันใด และการเพิ่มความสามารถการทดสอบการทำงานของแบตเตอรี่ด้วยการจำลองสภาวะสั่นสะเทือน การกระแทกเมื่อขับบนถนนขรุขระ การตกหลุมบ่อบนถนนหรือการตกไหล่ทาง เพื่อรองรับการใช้งานจริงในทุกสถานการณ์ ที่เกิดขึ้นของยานยนต์ ซึ่งการเพิ่มขีดความสามารถทั้งหมด นอกจากจะสร้างความมั่นใจในเทคโนโลยีการตรวจสอบมาตรฐานให้กับภาคธุรกิจผู้ผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์แล้ว ยังตอบโจทย์ในเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภคด้วยเช่นกัน-สำนักข่าวไทย.