กรุงเทพฯ 12 พ.ย. ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการโทรคมนาคมชี้พบกระแสสร้างข่าวลวงทำความสับสนต่อเทคโนโลยี5G แนะหาข้อมูลประกอบพิจารณาอย่างรอบคอบ
นายเจษฎา ศิวรักษ์ หัวหน้างานฝ่ายรัฐกิจและธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท อิริกสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากการประชุมออนไลน์ GLORE2020 Global Coordination of Research and Health Policy on RF Electromagnetic Fields) ระหว่างวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2020 การประชุมนานาชาติเกี่ยวกับการวิจัยและความร่วมมือในเรื่องนโยบายสุขภาพบนสนามคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มีประเด็นเกี่ยวกับเทคโนโลยีสื่อสารและสุขภาพทหลายเรื่อง อาทิ ตัวแทนของ เทลสตาร์ ผู้ให้บริการ 5G จากออสเตรเลียได้พูดในประเด็นที่น่าสนใจเรื่องประสบการณ์ 5G ได้รับการต่อต้านจากประชาชนในความเชื่ออย่างไม่มีเหตุผลเช่น 5G ยังไม่ได้มีการทดสอบว่ามีอันตรายต่อสุขภาพ , 5G เป็นแหล่งปล่อยไวรัส โควิด-19 เมืองไหนมี 5G ก็จะมีผู้ติดเเชื้อเป็นจำนวนมาก เช่น สหรัฐอเมริกาติดตั้ง 5G เป็นประเทศแรก ๆ ของโลก ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิทเป็นจำนวนมาก หรือหลายเมืองในยุโรปก็มีการระบาดของโคโลน่าไวรัสตามเมืองที่มีการติดตั้ง5G และ 5G ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ต้นไม้ไม่เจริญเติบโต หรือเป็นเหตุให้นกจำนวนมากตายลง ดังเช่นเหตุการณ์การตายหมู่ของนกตัวเล็กๆ ในสวนสาธารณะในยุโรป 5G ส่งผลกระทบต่อ DNA ของเราอาจเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งชนิดต่างๆ ได้ มีการเปรียบเทียบเหมือนการปล่อยคลื่นในเตาไมโครเวฟ ที่ทำให้ความร้อนในผิวหนับมันสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เทลสตาร์ได้ลงทุนว่าจ้างดาราตลกมาร์ค ชาวออสเตรเลียมาสวมบทบาทเป็น 5G Chief Investigator มาทำคลิปให้ข้อมูลความจริงต่อสาธารณชนผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ เพื่อลดความตื่นตระหนกของสังคม
นายเจษฎา กล่าวอีกว่า การปั่นกระแสเรื่องความน่าหวาดกลัวของ 5G ให้กับประชาชน มีคนที่ฉวยโอกาสในการสร้างเรื่องอุปกรณ์ Anti-5G Bio Shield ที่หน้าตาคล้าย USB Drive โดยมีการโหมสร้างความน่าเชื่อถือว่า อุปกรณ์ตัวนี้มีเทคโนโลยี Quantum holographic catalyzer technology ที่จะสร้างม่านครอบตัวผู้ใช้ที่มองไม่เห็น มีความสามารถป้องกันอันตรายให้กับผู้ใช้ได้เป็นอย่างนี้ ซึ่งได้มีการสร้างความน่าเชื่อถือขึ้นไปอีกเป็นการสร้างเอกสารที่คล้ายจะเป็นวิชาการจำนวน 25 หน้า ที่อธิบายสรรพคุณของอุปกรณ์ตัวนี้ มีการบอกระยะของการครอบคลุมป้องกันคลื่น 5G โดยทั้งนี้อุปกรณ์ Anti-5G Bio shield จำหน่ายอยู่ในราคา 350 เหรียญสหรัฐ (ราคาประมาณหนึ่งหมื่นบาท) โดยทางBBC ได้มีการนำอุปกรณ์ตัวนี้มาผ่าดูเพื่อให้รู้ว่าเป็นอุปกรณ์อย่างที่โม้ไว้หรือไม่ ผลปรากฏว่าทีมตรวจสอบของ BBC ชี้ชัดว่าเจ้าอุปกรณ์ป้องกันคลื่น 5G นี้ไม่มีอะไรแตกต่างไปมากกว่า 128MB USB Stick ธรรมดาๆราคาประมาณ 6-7 เหรียญสหรัฐ สรุป คือเอาอุปกรณ์หลักไม่กี่ร้อยมาขายในราคาหลักหมื่น ด้วยการฉวยโอกาสสร้างกระแสความกลัวในเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล มีการเปิดเวปไซด์ 5GBioShield เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่อง5G อันตรายต่อสุขภาพอย่างผิดๆ และเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายโดยยังไม่ได้มีใครไปดำเนินการกับเว็บไซด์อันนี้อยู่ ข่าวแบบนี้มีออกมาอีกมากคิดว่าการไปทำการปิดกั้นคงทำไม่ได้ แต่หน่วยงาน หรือสมาคมที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนี้น่าจะมีการพิสูจน์แล้วให้ความรู้กับภาคประชาชนน่าจะได้ผลมากกว่า เช่น กรณี BBC ร่วมกับพันธมิตร Pentest Partner พิสูจน์ให้เห็นความจริงแล้วนำมาให้ข้อมูลกับสาธารณชนวิธีนี้น่าจะดีกว่า
ด้านนายสืบศักดิ์ สืบภักดี เลขาธิการสมคมโทรคมนาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีข่าวลวงหรือเฟคนิวส์เกี่ยวกับ 5G เกิดขึ้นจำนวนมาก น่าแปลกใจทีาหลายข่าวยังออกมาเรื่อยๆ และที่สำคัญเป็นกลุ่มก้อนและออกมาจากประเทศที่ค่อนข้างเจริญ หรือผู้คนมีการศึกษา อาทิ ยุโรป ออสเตรเลียก็มีในประเทศกลุ่มเอเซียกลับไม่ค่อยมีข่าวทำนองนี้ ข่าวที่พบมากที่สุดน่าจะเป็นเรื่องความกังวลเกี่ยวกับคลื่นว่ามีจะมีผลต่อกับสุขภาพหรือ โดยพบว่ามีการใช้หลักวิชาการและหลักฐานอธิบายเทียบเคียงทำให้เชื่อ
นายสืบศักดิ์ กล่าวอีกว่า เท่าที่ตามข่าว เว็บหรือกลุ่มที่นำเสนอน่าจะเป็นบล็อกเกอร์ที่มีเจตนาสร้างเรื่องเพื่อเพิ่มยอดคลิ๊ก จะสังเกตได้ว่าข่าวที่ออกมามีแปลกๆ แบบหลุดโลกไร้หลักวิชาการไปเลย แบบทำนกตาย พอโควิดมาก็บอกว่า5Gกระจายโควิด ข่าวลวงที่เกิดขึ้น ผู้บริโภคข่าวสารอาจสังเกตว่าหัวข้อหรือเนื้อข่าวจะออกแนวไม่น่าเป็นไปได้ อาทิ5G แพร่ไวรัสโควิด หรือทำนกตาย หรือ มี usb ที่เสียบกับคอมฯแล้วสร้างเกราะกำบังกันคลื่น ทำนองนี้สามารถพิจารณาได้เลยเบื้องต้นว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ และไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งไม่ควรทั้งเชื่อและส่งต่อให้ความเข้าใจผิดๆ กระจายไปแม้จะมองในแง่ขบขำก็ตาม ส่วนประเด็นที่อาจก่ำกึ่งฟังดูอ่านจะมีความเป็นไปได้หรือเป็นประเด็นข้อกังวลสงสัยอาจใช้วิธีหาข้อมูลอื่นๆ ประกอบหรือแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้ ทั้งนี้ถ้าประเด็นข้อกังวลใดมีผลกระทบผู้คนเป็นวงกว้างก็ย่อมจะมีข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศยืนยันความชัดเจนเเละถูกต้อง-สำนักข่าวไทย.