นนทบุรี 4 พ.ย.-อว. เปิดโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย หวังทุกภาคส่วนนำความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม ไปช่วยยกระดับเศรษฐกิจ สังคมในระดับตำบล ลดปัญหาความยากจน พร้อมเตรียมจ้างงานนักศึกษา- ประชาชน 150,000 คน ทำงานกับชุมชน 7,900 ตำบล
ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวภายหลังประธานเปิดโครงการเปิดโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ที่ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ว่า โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ หรือ “1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย” เกิดขึ้นเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับชุมชน ซึ่งการจะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศหลุดพ้นจากกับดักความยากจนได้ ต้องอาศัยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยที่อยู่ในพื้นที่ เข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนชุมชนให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งพัฒนาทักษะในการเสริมสร้างอาชีพใหม่ให้กับชุมชน รวมถึงสนับสนุนให้คนในชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ศ.ดร.เอนก กล่าวว่าโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย อว. ได้รับงบประมาณในการดำเนินโครงการในพื้นที่ 3,000 ตำบล เกิดการจ้างงานกว่า 60,000 คน เฉลี่ย 20 คนต่อตำบล และกำลังจะขยายผลไปสู่ทุกตำบลทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการให้ครอบคลุมตำบลทั้งประเทศ รวม 7,900 ตำบล ซึ่งคาดจะทำให้เกิดการจ้างงาน 150,000 คน โดยมีมหาวิทยาลัยกว่า 80 แห่ง ดำเนินการร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในแต่ละพื้นที่ตามบริบท สภาพปัญหา สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพความหลากหลายทางวัฒนธรรม ในการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปช่วยในการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมในตำบล ผ่านการจ้างงานนิสิต นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ รวมถึงประชาชนในพื้นที่ที่จะเข้าไปช่วยในการพัฒนาตำบล โดยผู้ที่ได้รับการจ้างงานยังจะได้รับการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาตนเอง ดึงศักยภาพของตนเองออกมา เพราะบุคคลกลุ่มดังกล่าวจะเข้าใจสภาพปัญหาของพื้นที่บ้านเกิด
ศ.ดร.เอนก กล่าวว่าโครงการดังกล่าว มหาวิทยาลัยในพื้นที่จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางที่เชื่อมประสานความรู้กับการแก้ปัญหาให้ตรงจุด ในระดับตำบล และเครือข่ายพัฒนาอุดมศึกษา 9 เครือข่าย จะทำหน้าที่ในฐานะหน่วยเชื่อมประสานฯ ในระดับภูมิภาค โดยทำงานร่วมกับสำนักงานปลัด อว.ในฐานะหน่วยเชื่อมประสานฯ ระดับชาติ โดยมหาวิทยาลัยสามารถใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีอยู่ทำงานประสานและร่วมงานกับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานอื่นๆ เพื่อให้การบูรณาการนี้สามารถยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลที่สามารถนำไปสู่การลดปัญหาความยากจนอย่างมีเป้าหมายชัดเจน และการจัดทำโครงการ/กิจกรรมยกระดับเศรษฐกิจและสังคมเพื่อพัฒนาตำบลของมหาวิทยาลัย จะใช้ข้อมูลในชุมชนที่มีการจัดเก็บรวบรวม เป็นบิ๊กดาต้า(Big Data) มาทำการวิเคราะห์และกำหนดรูปแบบการดำเนินกิจกรรมตามสภาพปัญหา ศักยภาพ และบริบทของพื้นที่ที่รับผิดชอบ ร่วมกับการบูรณาการโครงการของหน่วยงานภาครัฐซึ่งมีจำนวนมากที่ไปลงพื้นที่หรือชุมชน นอกจากนั้นโครงการนี้ยังเชื่อมโยงกับการทำงานของ อว. ส่วนหน้า ที่ต้องการพัฒนาและยกระดับคุณภาพความเป็นอยู่ในระดับจังหวัดตามนโยบายขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันของรัฐบาล.-สำนักข่าวไทย