กรุงเทพฯ 22 ก.ย.-กฟผ.เสียสละเตรียมแผนไม่รับโบนัส2ปี พร้อมเร่งศึกษาปลดระวางโรงไฟฟ้าทั้งของเอกชน-กฟผ.ก่อนหมดสัญญาล่วงหน้า 3 ปี เพื่อร่วมลดต้นทุนค่าไฟฟ้าละภาระโควิด-19
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานและ ประธาน คณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย( กฟผ.)เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ กฟผ.ศึกษาแผนลดต้นทุนค่าไฟฟ้าเพื่อร่วมลดผลกระทบค่าครองชีพประชาชนที่ได้รับจากโควิด-19 ตามนโยบายนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงานโดยเป้าหมายหลัก คือ รีดไขมันให้มากที่สุด เช่น การปลดโรงไฟฟ้าเก่าประสิทธิภาพต่ำออกจากระบบ การเร่งขายไฟฟ้าไปประเทศเพื่อนบ้าน และจะพยายามไม่ให้เกิดผลกระทบพนักงาน ซึ่งในวันพรุ่งนี้ นายสุพัฒนพงษ์ จะมาตรวจเยี่ยม กฟผ.และคงมอบนโยบายเพิ่มเติม โดยที่ผ่านมา กฟผ.ได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐมาด้วยดีตลอดไม่ว่าจะเป็นการบริจาคการพัฒนาอุปกรณ์ป้องกันโควิด-19 แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ การจ้างงาน การสร้างรายได้แก่ชุมชน
ส่วนจะทบทวนผลตอบแทนรายได้ของ 3 การไฟฟ้า โดยเปลี่ยนจากการใช้อัตราส่วนผลตอบแทนการลงทุนเพื่อการดำเนินงาน (ROIC) ที่ปัจจุบันกำหนดอัตราอยู่ที่กว่าร้อยละ 5 กลับไปใช้ อัตราส่วนการลงทุนจากเงินรายได้ (Self-Financial Ratio: SFR) หรือไม่นั้นคงต้องดูความเหมาะสมต่อไป โดยเฉพาะจะกระทบต่อการลงทุนในอนาคตหรือไม่
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ.ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่ร่วมดูแลสังคม และความมั่นคงของประเทศ ก็พร้อมจะเสียสละ เมื่อประชาชนเดือดร้อนจากโควิด-19 โดยต้องดูทุกด้านควบคู่กันไป เมื่อรัฐให้ลดผลตอบแทนการลงทุน ที่ตามข้อROIC ปัจจุบันกำหนดว่า กฟผ.จะต้องมีกำไรกว่าร้อยละ 5ของโครงการลงทุน เพื่อนำเงินกำไรในส่วนนี้เป็นเงินเตรียมลงทุนด้านสายส่งและโรงไฟฟ้าใหม่ในอนาคตที่มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท ภายใต้ข้อกำหนดต้องใช้เงินทุนร้อยละ40 เงินกู้ไม่เกินร้อยละ60 หากรื้อ ROIC ในส่วนนี้ ก็จะต้องดดูว่าจะกระทบและควรปรับเกณฑ์เงินกู้หรือไม่อย่างไรในอนาคต เพื่อให้ลงทุนได้ตามแผน หรือจะปรับเป็นSFRก็ต้องหารือกับ สำนักงาน กกพ.ต่อไป
ในขณะเดียวกัน กำลังก็ต้องดูนโยบายจากกระทรวงการคลังด้วยว่า เม็ดเงินอัตราผลตอบแทนส่งคืนรัฐที่ผ่านเรียกร้อยละ35-45 ของกำไรสุทธิ จะเรียกเพิ่มหรือไม่ และหากปรับวงเงินผลตอบแทนจะกระทบ ในส่วนนี้หรือไม่ อย่างไรก็ตามในเบื้องต้นก็พิจารณาว่า กฟผ.จะร่วมเสียสละ ไม่รับโบนัสประมาณ 2 ปี จากผลประกอบการปี 2563-2564 เพื่อภาครัฐจะได้มีวงเงินส่วนนี้ไปช่วยเหลือประชาชน ส่วนเรื่องสำรองไฟฟ้าที่สูงร้อยละ 40 หากลดต้นทุน กฟผ.ก็จะพิจารณาว่าภาพรวมคงจะเสนอให้ปลดระวางโรงไฟฟ้าที่ใกล้หมดอายุสัญญา ซื้อขาย (พีพีเอ) ทั้ง ของ กฟผ. และภาคเอกชน โดยปลดล่วงหน้า 3 ปี ซึ่งก็จะทำให้สำรองไฟฟ้าด้วยรวมลดลง และเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ต่ำลง
“ในเรื่องการลดต้นทุนค่าไฟฟ้า ทาง กฟผ.พิจารณาหลากหลายด้านพร้อมๆกันทั้งลด สำรองไฟฟ้า การนำเงินคืนส่งรัฐ ผลกำไรจากเกณฑ์ ROIC ซึ่งจากที่ประชาชนลำบากจากโควิด -19 พนักงาน กฟผ.ก็พร้อมจะร่วมเสียสละ ไม่รับโบนัสอย่างต่ำ 2 ปี ที่เป็นเงินจะได้ใช้ในปี 64-65 “นายพัฒนากล่าว -สำนักข่าวไทย