กรุงเทพฯ 9 ก.ย. – กระทรวงพลังงานเร่งเดินหน้าร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ทั้งจ้างงานหลายหมื่นคน ส่วนหนึ่งเก็บข้อมูลทำ Big Data ข้อมูลพลังงาน ส่วนโรงไฟฟ้าชุมชน 100-200 เมกะวัตต์ มั่นใจวางกรอบรับซื้อเสร็จสิ้นภายในสิ้น ก.ย. และประกาศรับซื้อปลายปี 63
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานเร่งเดินหน้าตามนโยบายของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในการเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะดำเนินการหลากหลายแนวทาง โดยเฉพาะการจ้างงาน ซึ่งในส่วนของ กระทรวงฯ และรัฐวิสาหกิจในสังกัดจะมีการจ้างงานทั้งผู้ตกงานและนักศึกษาจบใหม่หลายหมื่นคน เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัทในเครือ กำลังพิจารณาจะว่าจ้างกว่า 10,000 คน กลุ่ม ปตท.ได้ประกาศแล้วจะว่าจ้างกว่า 25,000 อัตรา ระหว่างปี 2563 – 2564 ภายใต้โครงการ “Restart Thailand” การว่าจ้างในการจัดเก็บข้อมูลด้านพลังงานในโครงการศึกษาการจัดทำแผนยุทธศาสตร์และออกแบบการพัฒนาศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ เพื่อรองรับการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ในการขับเคลื่อนแผนพลังงานของประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 10 คนต่อจังหวัด หรือประมาณ 760 คน เป็นต้น ซึ่งการจ้างงานนั้น ก็คงจะพิจารณาหลายส่วนทั้งการจ้างงานชั่วคราวและการจ้างงานถาวร
“งบประมาณว่าจ้างแรงงานเพื่อช่วยเหลือผู้มีงานทำที่ยอมรับว่ากระทบหนักจากโควิด-19 จะมาจากงบซีเอสอาร์ งบวิจัยและพัฒนาของ กฟผ.-ปตท. งบกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และหาก ครม.เห็นชอบการใช้งบฯ จ่ายเงินอุดหนุนสมทบเงิน ด้วยการโอนเงินตรงเข้าบัญชีของลูกจ้างที่จบการศึกษาใหม่ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ก็จะเป็นเรื่องดี” นายกุลิศ กล่าว
ปลัดกระทรวงพลังงาน ยืนยันด้วยว่า โครงการรับซื้อโรงไฟฟ้าชุมชน 100-200 เมกะวัตต์ ขณะนี้กำลังปรับปรุงจัดทำกรอบการรับซื้อใหม่ภายใต้อัตรารับซื้อหรือFIT อัตราเดิม ซึ่งจะดำเนินการเสร็จสิ้นในสิ้นเดือนกันยายนนี้ และนำเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เดือน ตุลาคม และมั่นใจว่าจะประกาศรับซื้อสิ้นปีนี้ การลงทุนจะเกิดขึ้นได้ปี 2564 โดยหลักเกณฑ์สำคัญ คือ ดูถึงโครงข่ายสายไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะต้องมีเพียงพอในการเข้าระบบในพื้นที่นั้น การผูกพันเรื่องการซื้อพืชพลังงาน ในพื้นที่ที่เน้นให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน ส่วนนโยบายเดิมที่กำหนดให้ชุมชนร่วมถือหุ้นโรงไฟฟ้าร้อยละ 10-40 นั้น ในส่วนนี้อาจดำเนินการได้ยาก ดังนั้น อาจจะปรับรูปแบบเป็นการให้โรงไฟฟ้ารับซื้อพืชพลังงานในราคาที่สูงกว่าราคาทั่วไป วิธีการนี้ ชุมชนก็จะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น
ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในส่วนของแผนพัฒนาไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี) ทางกระทรวงฯ ได้แจ้งยืนยันต่อ ครม.ว่าจะใช้แผนพีดีพี 2018 ต่อเนื่อง ไม่ใช้ร่างแผนฉบับปรุงปรุงพีดีพี 2018 ครั้งที่ 1 แต่อย่างใด โดยในส่วนของโรงไฟฟ้าชุมชนที่เดินหน้ารับซื้อ 100-200 เมกะวัตต์ ก็อยู่ในส่วนของแผนงานพลังงานทดแทนที่มีการรับซื้อไฟฟ้าชีวมวลหรือไบโอแมส ส่วนแผนการศึกษษโรงไฟฟ้าชุมชน 1,933 เมกะวัตต์หรือไม่ เรื่องนี้จะนำไปพิจารณาในส่วนของแผนพีดีพีฉบับใหม่ หรือพีดีพี 2022 ที่จะมีการพิจารณา ภาพรวมความต้องการไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป จากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 และด้านอื่น ๆ เช่น เทคโนโลยี การส่งเสริมพลังงานทดแทน ซึ่งภายปลายปีนี้และปีหน้าคงจะศึกษาและรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำพีดีพีฉบับใหม่
ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยด้วยว่าอยู่ระหว่างจัดทำยุทธศาสตร์และการออกแบบในการจัดตั้ง “ศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ” (National Energy Information Center : NEIC) โดยวาง Road Map 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปี 2564-2566 เชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภายในกระทรวงพลังงาน เชื่อมต่อระบบคลาวด์กลางภาครัฐ ,ระยะที่ 2 ปี 2567-2569 เชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภายนอกกระทรวงพลังงาน เตรียมความพร้อมตามแนวทางของรัฐบาลในการมุ่งสู่แผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และระยะที่ 3 ปี 2570-2579 เป็นการเชื่อมโยงคลังข้อมูลแห่งชาติ ซึ่งจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงข้อมูลแผนบูรณาการพลังงานระยะยาวของประเทศต่อไป
นายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC เปิดเผยว่า ขณะนี้เอกชนยังรอความชัดเจนนโยบายจากภาครัฐว่าจะเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน บริษัทฯ ยังมั่นใจว่ามีโอกาสที่จะเข้าร่วมโครงการได้ โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีโรงฟ้าที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว 2 แห่ง จ.ขอนแก่น กำลังผลิตรวม 3 เมกะวัตต์ สำหรับกรณีที่มีข่าวว่าหลักเกณฑ์ใหม่อาจไม่ให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นเข้าถือหุ้นนั้น เชื่อว่าคงไม่เกี่ยวกัน เนื่องจากไม่ว่าจะเป็นบริษัทในตลาดฯ หรือนอกตลาดฯ ก็มีการลงทุนคล้ายกัน และต้องมีส่วนให้ประโยชน์ต่อชุมชนอยู่แล้ว.-สำนักข่าวไทย