กรุงเทพฯ 8 ก.ย. 63 – หุ้นน้องใหม่ SCM ของ บมจ. ซัคเซสมอร์ บีอิ้งค์ ผู้ดำเนินธุรกิจจำหน่ายสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคทั้งในและต่างประเทศในลักษณะเครือข่ายขายตรง บริษัทแรกที่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ วันแรกวันนี้ (8 ก.ย.63)ด้วยมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 1,140 ล้านบาท โดยราคาเปิดซื้อขายวันแรกอยู่ที่ 2.88 บาท บวก 51.58% จากราคา IPO หุ้นละ 1.90 บาท
SCM ดำเนินธุรกิจจัดจำหน่ายสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค ในลักษณะแบบเครือข่าย (Multi-level Marketing หรือ “MLM”) โดยมีผลิตภัณฑ์หลักที่สร้างรายได้ให้บริษัทกว่า 70% คือกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารภายใต้แบรนด์ นิวทรินัล (Nutrinal) จัดจำหน่ายสินค้าผ่านเครือข่ายนักธุรกิจและตัวแทนจัดจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันมีจุดกระจายสินค้าจำนวน 23 สาขาทั่วประเทศ มีการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายสินค้าในต่างประเทศอีก 6 ประเทศ ได้แก่ พม่า กัมพูชา เวียดนาม ลาว มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยบริษัทมีแผนจะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหลักทรัพย์ในครั้งนี้ เพื่อขยายและดำเนินการปรับปรุงในพื้นที่สาขาเพื่อเพิ่มช่องทางในการจัดจำหน่ายและกระจายสินค้า รวมทั้งดำเนินการเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนภายใน
นายนพกฤษฏิ์ นิธิเลิศวิจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCM ระบุมั่นใจว่าจะสามารถรักษาระดับการเติบโตของธุรกิจต่อเนื่อง แม้ในช่วงวิกฤติโควิด-19 เนื่องจากพบว่าผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 55 ปีขึ้น ไปซึ่งเป็นกลุ่มมีกำลังทรัพย์หันมาให้ความสำคัญต่อสุขภาพมากขึ้น พร้อมตั้งเป้าดันยอดการใช้จ่ายของฐานลูกค้าที่เป็นนักธุรกิจประมาณ 180,000 คน เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2% ต่อเดือน และมั่นใจว่าจะสามารถผลักดันสัดส่วนการส่งออกใน 6 ประเทศ ได้แก่ พม่า กัมพูชา เวียดนาม ลาว มาเลเซีย และสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น จากปัจจุบัน 7% เป็น 15% ในสิ้นปี 63 และเพิ่มเป็น 20% ในปี 64 รวมทั้งใช้กลยุทธ์การเป็นสถาบันความน่าเชื่อถือเพื่อขยายฐานลูกค้าไปทั่วเอเชียในระยะต่อไป
สำหรับ SCM มีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 450 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุน 150 ล้านหุ้น เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ในระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม – 1 กันยายน 2563 ในราคาหุ้นละ 1.90 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 285 ล้านบาท และมีมูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 1,140 ล้านบาท
มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในแต่ละปี ในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลตามงบการเงินเฉพาะกิจการ และภายหลังการจัดสรรทุนสำรองตามกฎหมาย ทั้งนี้ อาจพิจารณาจ่ายเงินปันผลแตกต่างไปจากนโยบายที่กำหนดไว้ได้ ขึ้นอยู่กับผลประกอบการ สภาพคล่องทางการเงิน และความจำเป็นในการใช้เงินทุนหมุนเวียนเพื่อบริหารกิจการ และแผนการขยายธุรกิจในอนาคต รวมถึงภาวะเศรษฐกิจ .- สำนักข่าวไทย