กรุงเทพฯ 3 ก.ย.- พีเทค สวทช. ย้ำเพาเวอร์แบงก์ต้องได้มาตรฐาน ขีดเส้นตาย 1 ธ.ค. ไม่มีมาตรฐานโดนแน่
นางเกศวรงค์ หงส์ลดารมภ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วยนายไกรสร อัญชลีวรพันธุ์ ผู้อานวยการศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สวทช. นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมศูนย์ทดสอบมาตรฐานแบตเตอรี่ครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทยสามารถทำการทดสอบแบตเตอรี่ทั้งระดับเซลล์ ระดับโมดูลและ ระดับแพ็ค และได้รับมาตรฐาน มอก. 2217 หรือ IEC62133 และมาตรฐาน มอก. 2879 จาก สมอ.พร้อมที่จะดำเนินการให้บริการแก่ผู้ประกอบการที่สนใจจะทดสอบมาตรฐานแบตเตอรี่ เพื่อให้ผู้ใช้งานมีความมั่นใจในการใช้งาน และปัจจุบัน PTEC ยังสามารถทำการทดสอบแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ ที่ใช้สาหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และแหล่งเก็บกักพลังงาน (Energy Storage) ขนาดใหญ่ ทั้งในด้านประสิทธิภาพในการชาร์จ-ดิสชาร์จ และด้านความปลอดภัยการใช้งานด้วย
นายไกรสร กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนใช้งานแบตเตอรี่ ทั้งในส่วนเพาเวอร์แบงก์ โทรศัพท์มือถือ โน๊ตบุ๊ก แท็บเล็ต หรือกล้องติดรถยนต์ เป็นจำนวนมากภายใต้ความเสี่ยงระเบิดและเกิดเพลิงไหม้ หลังวางไว้อยู่ในรถซึ่งตากแดดเป็นเวลานาน หรือชาร์จทิ้งไว้ในบ้านแล้วเกิดระเบิดจนไฟลุกไหม้สร้างความเสียหาย เพราะส่วนประกอบของแบตเตอรี่ เป็นแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเป็นสารที่ทำปฏิกิริยากับออกซิเจนง่าย และอาจเกิดการติดไฟขึ้นได้ ในเวลาที่เจอกับสภาวะร้อนจัด ซึ่งหากใช้แบตเตอรี่ไม่ได้มาตรฐาน อาจเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ได้ ดังนั้นเพื่อดูแลและคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จึงประกาศให้มาตรฐานเพาเวอร์แบงก์เป็นมาตรฐานบังคับ คือมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม แบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าสำหรับการใช้งานแบบพกพา คุณลักษณะที่ต้องการด้านความปลอดภัย มอก. 2879-2560 ซึ่งผู้ประกอบการสามารถยื่นขอ มอก.เพื่อรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ของตนเองได้ โดยจะมีผลบังคับใช้ 1 ธันวาคม 2563 โดยจะส่งผลให้เพาเวอร์แบงก์ในท้องตลาดทุกยี่ห้อ ต้องมีเครื่องหมาย มอก. รับรองตามที่มาตรฐานกำหนด หากละเมิดผู้นำเข้าจะมีความผิดทางอาญา
นายไกรสร กล่าวว่า ผู้บริโภคสามารถสังเกตความผิดปกติของแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ โดยดูลักษณะทางกายภาพ หากบวมแตกหรือบิ่น แสดงว่าไม่ปลอดภัย ต้องเช็กและตรวจสอบ ก่อนนำไปใช้งานต่อ เพราะหากชำรุดจะเกิดปัญหา ขณะที่ผู้บริโภคควรเลือกใช้แบตเตอรี่ หรือตัวชาร์จ ที่ผลิตโดยผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน มีตราสัญลักษณ์รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เช่น มอก. และควรเลี่ยงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีราคาถูกเกินจริง เพราะมีโอกาสจะเป็นสินค้าไม่ได้มาตรฐาน อาจส่งผลเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินได้
นางเกศวรงค์ กล่าวว่า นักธุรกิจไทยหรือผู้ประกอบการไทยที่จะนำเข้าเพาเวอร์แบงก์เข้ามาจำหน่าย สามารถนำสินค้าเข้ามาใช้บริการศูนย์ทดสอบได้ในราคาพิเศษ โดยใช้เวลาในการทดสอบคุณภาพเพียง 3 สัปดาห์ถึง 1 เดือน เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน สำหรับผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ PTEC สวทช.หมายเลขโทรศัพท์ 0-2117-8625 ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป -สำนักข่าวไทย.