กรุงเทพฯ 31 ส.ค. กทปส. ดัน “มิวเทอร์ม–เฟสเซนซ์” นวัตกรรมตรวจวัดอุณหภูมิสัญชาติไทย แม่นยำเทียบเท่าต่างชาติ ช่วยชาติลดการนำเข้าเทคโนโลยี คาดผลิตเชิงพาณิชย์ถูกกว่าตลาด 50 %
นายนิพนธ์ จงวิชิต ผู้อำนวยการกองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) กล่าวว่า กทปส. ร่วมกับ ทีมวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เร่งผลิตเครื่องต้นแบบ “มิวเทอร์ม-เฟสเซนซ์” เครื่องวัดอุณหภูมิจำนวน 40 เครื่อง ภายใต้งบประมาณวิจัยกว่า 15.41 ล้านบาท หนุนแพทย์ไทยคัดกรองอุณหภูมิประชาชนแม่นยำใน 0.1 วินาที ด้วยเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้าบุคคลอัตโนมัติ(Face Detection) แม้สวมหน้ากากอนามัย และเครือข่ายการสื่อสารอัจฉริยะ ที่ช่วยให้การประมวลผลเป็นไปอย่างรวดเร็ว และสามารถตรวจวัดพร้อมกันได้ถึง 9 คน ในระยะห่างสูงสุด 1.5 เมตร ทั้งนี้ ผลสำเร็จดังกล่าวนับเป็นการตอกย้ำศักยภาพทีมวิจัยไทย ที่สามารถพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์รูปแบบเฉพาะได้ 100% ทั้งยังลดการพึ่งพาเทคโนโลยีที่มีราคาสูงจากต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อใช้จริงในสถานการณ์โควิด-19
ด้านนายอาโมทย์ สมบูรณ์แก้ว นักวิจัยเรคเทคและหัวหน้าทีมพัฒนา “มิวเทอร์ม เฟสเซนซ์” กล่าวว่า หลังการได้รับทุนสนับสนุนจาก กทปส. กว่า 15.41 ล้านบาทนั้น สามารถลดต้นทุนการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ สู่การพัฒนา 40 นวัตกรรมต้นแบบ ที่มีมูลค่าต่ำกว่าท้องตลาดถึงร้อยละ 50 หรือราว 100,000 บาท เพื่อใช้จริง ณ สถานพยาบาล เรือนจำหน่วยงานราชการ และขนส่งสาธารณะ 40 เครื่องทั่วประเทศ จึงนับเป็นโอกาสสำคัญของคนไทย ในการเข้าถึงนวัตกรรมที่พัฒนาโดยนักวิจัยไทย ในราคาที่ต่ำลงแต่ประสิทธิภาพที่แข่งขันกับต่างประเทศ ที่มาพร้อมระบบถ่ายภาพและประมวลผลเบ็ดเสร็จใน 5 มิติ คือ 1. พิกัดของตำแหน่ง 2. ภาพปกติกับภาพความร้อน 3. ชุดอุณหภูมิอ้างอิงอยู่ภายในตัวเครื่อง 4. ระบบการชดเชยความแปรปรวนของสภาพแวดล้อม และ 5. ระบบการชดเชยความแปรปรวนของระยะทาง ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ NECTEC เตรียมถ่ายทอดสิทธิให้เอกชนนำไปผลิตเชิงพาณิชย์ ในเฟส 2 ไปพร้อมๆ กับการเตรียมผลิตเชิงพาณิชย์ รุ่นLimited Edition จำนวนจำกัดอีก 40 เครื่อง เพื่อวางจำหน่ายรองรับความต้องการภาคประชาชนทุกพื้นที่ ในราคาที่จับต้องได้เป็นลำดับต่อไป
มิวเทอร์ม-เฟสเซนซ์ เป็นผลงานการพัฒนาโดยทีมวิจัย จากกลุ่มวิจัยอุปกรณ์สเปกโทรสโกปีและเซนเซอร์ (SSDRG) และกลุ่มวิจัยการสื่อสารและเครือข่าย (CNWRG) รวม 16 คน ยังได้ลงมือพัฒนาระบบการทำงานของเครื่องส่วนต่าง ๆ ด้วยตนเองให้สามารถใช้งานเชื่อมต่อกันได้อัตโนมัติ นอกจากนี้ นวัตกรรมดังกล่าว ยังผ่านการทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยทางด้านไฟฟ้า การทดสอบมาตรฐานคลื่นแม่เหล็ก ที่ไม่กระทบต่ออุปกรณ์ทางการแพทย์ การทดสอบความแม่นยำของอุณหภูมิ จากสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว การันตีด้วยชุดทรัพย์สินทางปัญญาหลายฉบับ ด้วยการทำงานของเครื่องจะทำให้ระบบประควบคุมและประมวผลผลที่ทำงานอยู่เบื้องหลังได้รับ “บิ๊ก ดาต้า” (Big Data) ที่เป็นค่าดิบจากเซนเซอร์ต่าง ๆของตัวเครื่องจำนวนมากนั้น สามารถนำไปต่อยอดหรือใช้ประโยชน์ในบริบทต่าง ๆ ได้หลากรูปแบบ อาทิ ปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องทั้งในรุ่นปัจจุบันและรุ่นถัดไป (ปัจจุบันเครื่องมีการอัปเดตโปรแกรมใหม่อัตโนมัติ) เพิ่มความสามารถเข่น การแสดงสถิติการใช้งาน (ปัจจุบันเครื่องนับจำนวนคนในแต่ละวันให้ตลอดเวลา) ช่วยดูแลสุขภาพเครื่องจากระยะไกลทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้จำนวนมาก รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลบางส่วนเป็น Open Data เพื่อประโยชน์สาธารณะทางระบาดวิทยา เช่น จำนวนคนเข้าออก และค่าอุณหภูมิที่วัดได้ -สำนักข่าวไทย.