คมนาคมลุยบิ๊กโปรเจกต์ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน

กรุงเทพฯ  28 ส.ค. – ทล.-รฟท.จรดปลายปากกาใช้พื้นที่เขตทางหลวง 29 จุด 19 เส้นทาง ลุยบิ๊กโปรเจกต์ “ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน” เร่งเคลียร์พื้นที่ปักตอม่อ พร้อมตั้งคณะทำงานแก้ปัญหา-อุปสรรค ด้านการรถไฟฯ คาดส่งมอบพื้นที่ให้เอกชน ก.พ.-มี.ค.ปีหน้า ล่าช้าเป้าเดิม 2 เดือน หลังติดเบิกจ่าย-เวนคืนที่ดิน มั่นใจเดินหน้าได้ตามแผนต่อเนื่อง


นายชัยวัฒน์ ทองคำคูน ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการใช้พื้นที่เขตทางหลวงในการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ว่า สำหรับโครงการดังกล่าว เป็นแนวเส้นทางรถไฟระยะทางประมาณ 190 กิโลเมตร (กม.) โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และมีพื้นที่บางส่วนที่ต้องเวนคืน รวมถึงพื้นที่ของหน่วยงานราชการอื่น ๆ อาทิ กรมทางหลวง (ทล.) จึงต้องมีการบันทึกข้อตกลงระหว่าง รฟท. และกรมทางหลวง (ทล.) เพื่ออนุญาตใช้พื้นที่ก่อสร้าง จากนั้นการรถไฟฯ จะเดินหน้าขอใช้พื้นที่ส่วนราชการอื่น ๆ เช่น กองทัพเรือ กรมป่าไม้ กรมชลประทาน เป็นต้น

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการชี้นำว่าประเทศไทยจะก้าวไปอย่างไร ประกอบการกับการพัฒนาประเทศชาติจะต้องมีการลงทุนในพื้นที่สำคัญ เช่น การสนับสนุนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งหนึ่งในโครงการสำคัญ คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงการเดินทางระหว่างทางบก ทางราง และทางอากาศแบบไร้รอยต่อ และยังเป็นการขยายความเจริญไปยังพื้นที่อีอีซี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน 


ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดี ทล. กล่าวว่า กรมทางหลวงพร้อมสนับสนุนและขับเคลื่อนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม สร้างรากฐานทางสังคมและเศรษฐกิจ หลังจากลงนามข้อตกลงวันนี้จะแต่งตั้งคณะทำงานตามกฎหมาย เพื่อร่วมกันพิจารณาแก้ไขปัญหาหรืออุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลง โดยคณะทำงานทั้ง 2 คณะจะประชุมร่วมกันอย่างน้อยทุก 2 เดือน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่น ขณะเดียวกัน ภายหลังการใช้พื้นที่กรมทางหลวงเสร็จ การรถไฟฯ จะต้องปรับปรุง ซ่อมแซม แก้ไข พื้นผิวการจราจร ระบบระบายน้ำต่าง ๆ ให้เรียบร้อย จากนั้นจึงส่งมอบทางคืนให้กับกรมทางหลวง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าความร่วมมือของ 2 หน่วยงานครั้งนี้จะเป็นส่วนช่วยให้โครงการฯ ประสบผลสำเร็จต่อไป

สำหรับเขตทางหลวงที่โครงการดังกล่าวผ่านนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณจุดตัด รวมทั้งสิ้น 29 จุด 19 เส้นทาง ใน 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง แบ่งเป็น แนวเส้นทางโครงการปัจจุบัน จำนวน 16 เส้นทาง และโครงการที่จะเกิดในอนาคต จำนวน 3 เส้นทาง ได้แก่ 1.ทางเลี่ยงเมืองจังหวัดฉะเชิงเทรา 2.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) M91 วงแหวนกรุงเทพ รอบที่ 3 และ 3.มอเตอร์เวย์ M61 สายชลบุรี–นครราชสีมา (แหลมฉบัง–ปราจีนบุรี) ทั้งนี้ ในจำนวน 29 จุดนั้น ได้เคลียร์จบแล้ว 15 จุด ขณะที่อีก 14 จุด อยู่ระหว่างการพิจารณาตำแหน่งที่ตอม่อของโครงการว่า จะอยู่ในบริเวณใด อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไม่มีผลกระทบหรือปัญหากับโครงการฯ อย่างแน่นอน

ขณะที่นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่า การก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน การรถไฟฯ จำเป็นต้องขอใช้พื้นที่ในเขตทางหลวงสำหรับการดำเนินโครงการฯ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงบางส่วน ทั้งนี้ การรถไฟฯ จะดำเนินการในพื้นที่ของกรมทางหลวงอย่างเหมาะสมและเป็นไปตามเงื่อนไขที่ตกลงอย่างเคร่งครัดและส่งผลกระทบต่อสภาพการจราจรผู้ใช้ทางและคนเดินเท้าให้น้อยที่สุด เพื่อสร้างประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง


นายสุจิตต์ เชาว์ศิริกุล รองผู้ว่าการกลุ่มบริหารรถไฟฟ้า การรถไฟฯ กล่าวว่า ตามกรอบระยะเวลาการดำเนินการนั้น การรถไฟฯ จะต้องส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนมกราคม 2564 แต่การเบิกจ่ายงบประมาณ รวมถึงการเวนคืนที่ดินที่ล่าช้า จึงคาดว่าจะสามารถส่งมอบพื้นที่ภายในกุมภาพันธ์-มีนาคม 2564 หรือล่าช้าออกไปประมาณ 2 เดือน แต่ยังคงอยู่ในกรอบระยะเวลาที่กำหนด คือ ต้องส่งมอบพื้นที่ภายในตุลาคม 2564 ในส่วนของผู้บุกรุกตามแนวเส้นทางของโครงการที่มีกว่า 1,300 กว่ารายนั้น ในจำนวนดังกล่าวมีผลกระทบกับโครงการประมาณกว่า 560 ราย โดยอยู่ระหว่างการเจรจาไกล่เกลี่ยให้ผู้บุกรุกออกนอกพื้นที่ ซึ่งคาดว่าจะเคลียร์จบภายในกุมภาพันธ์ 2564 ขณะเดียวกันด้านของงบประมาณที่จะนำมาใช้ในการรื้อย้ายสาธารณูปโภคนั้น ได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 2564 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมธิการฯ ทั้งนี้ ตามแผนคาดว่าจะเสร็จภายในปลายปีนี้

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะทาง 220 กม. มีแนวเส้นทางเชื่อมโยงท่าอากาศยานสำคัญของประเทศ โดยเริ่มต้นที่ท่าอากาศยานดอนเมือง วิ่งตรงเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ ผ่านสถานีมักกะสัน เลี้ยวเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มุ่งหน้าต่อไปตามแนวทางรถไฟสายตะวันออก ผ่านแม่น้ำบางปะกง เข้าสู่สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และเข้าสู่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นสถานีสุดท้าย ระยะทางรวม 220 กม. โดยขบวนรถสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 250 กม.ต่อชั่วโมง ช่วยลดระยะเวลาในการเดินทาง ส่งเสริมการท่องเที่ยว และเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ข่าวแนะนำ

อัญเชิญเรือพระที่นั่งกลับพิพิธภัณฑ์

หลังสร้างความตราตรึงให้กับชาวไทยและคนทั้งโลก กับความงดงามของขบวนพยุหยาตราทางชลมารค กองทัพเรือ และกรมศิลปากร เริ่มอัญเชิญเรือพระที่นั่ง และเรือพระราชพิธี กลับเข้าสู่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี ซึ่งแต่ละขั้นตอนต้องใช้ความละเอียด รอบคอบ เพราะเรือทุกลำถือเป็นสมบัติล้ำค่าของแผ่นดิน

ย้อนรอยเส้นทางชีวิต “บิ๊กโจ๊ก”

เป็นเวลากว่า 6 เดือนแล้วที่เส้นทางตำรวจของ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล ต้องยุติลง หลังถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อน กรณีพัวพันเว็บพนันออนไลน์ จากนี้ชะตาชีวิต “บิ๊กโจ๊ก” ขึ้นอยู่กับ ป.ป.ช. ว่าจะได้กลับมาสวมชุดตำรวจอีกหรือไม่

“ปานเทพ” เปิดหลักฐานสัญญาชัด 71 ล้านเป็นชื่อ “มาดามอ้อย”

“อ.ปานเทพ” เปิดหลักฐานหนังสือสัญญาบอกชัด 71 ล้านบาท เป็นชื่อ “มาดามอ้อย” เปิด 3 รายชื่อให้เร่งตรวจสอบ หวั่นโยกย้ายทรัพย์สิน