กรุงเทพฯ 28 ส.ค. – ผู้แทนเกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด เตรียมยื่นหนังสือ รมว.เกษตรฯ ทบทวนการยกเลิกพาราควอต โดยมีข้อมูลใหม่ประกอบตามที่เลขาฯ คกก.วัตถุอันตรายแจ้งให้กระทรวงเกษตรฯ ส่งมาเพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมพิจารณาทบทวนการยกเลิกพาราควอต
นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการ สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวว่า บ่ายวันนี้ (28 ส.ค.) จะเข้าพบนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหารือถึงแนวทางการแก้ปัญหาของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสารพาราคอวต รวมทั้งส่งหนังสือที่สมาคมเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจได้แก่ อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด และไม้ผลทำขึ้นเพื่อให้รมว. เกษตรฯ เสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย (คกก.วอ.) ให้ทบทวนการยกเลิกใช้พาราควอต ตามที่นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เลขานุการคกก. วอ. ระบุว่า พร้อมเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนำเข้าสู่การพิจารณาของคกก. วอ. หากกระทรวงเกษตรฯ เสนอข้อมูลใหม่มา
ดังนั้น จึงได้ส่งข้อมูลที่สมาพันธ์ฯ ทดลองพบว่า เมื่อฉีดพ่นสารกลูโฟซิเนตในแปลงมันสำปะหลัง ต้นมันสำปะหลังใบร่วง แต่วัชพืชไม่ตาย ฉีดพ่นในไร่อ้อย ต้นอ้อยจะได้รับความเป็นพิษ ยับยั้งการเจริญเติบโตในช่วงย่างปล้อง เกษตรกรไม่กล้าใช้ “สารทางเลือก” ในสวนปาล์มน้ำมัน ไร่อ้อย และทุเรียน จนทำให้วัชพืชเติบโตอย่างมาก แย่งสารอาหารจากพืชประธานเสียหาย อีกทั้งสอบถามกรมวิชาการเกษตรแล้ว ได้คำตอบว่า สารทางเลือกอื่น ๆ ไม่สามารถทดแทนพาราควอตได้ทั้งในแง่ของประเสิทธิภาพและราคา
สมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย (สนอท.) สำรวจและวิเคราะห์สารตกค้างในกลุ่มสินค้าเพื่อบริโภคในประเทศไทย ได้แก่ น้ำตาล น้ำอ้อย แป้งมัน สาคู ข้าวโพดต้ม ข้าวโพดกระป๋อง ข้าวโพดอาหารสัตว์ และอื่นๆ รวม 35 รายการ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ไม่พบสารพาราควอตตกค้างแม้แต่รายการเดียว ในทางตรงกันข้ามกระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้นำเข้าวัตถุดิบ เพื่อมาเป็นอาหารสัตว์และอาหารคน และมีการปรับค่ามาตรฐานการนำเข้า นั่นคือ ยอมรับสินค้าที่มีการใช้สารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสจากประเทศอื่น แต่กลับห้ามเกษตรกรในประเทศใช้ แบบนี้คือการปฏิบัติสองมาตรฐาน จึงไม่ได้ห่วงใยความปลอดภัยของผู้บริโภคและเกษตรกรอย่างแท้จริง แต่เป็นการซ้ำเติมเกษตรกรและเอื้อกลุ่มนายทุน
นายสุกรรณ์ กล่าวต่อว่า ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดให้สารพาราควอตจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ต้องมีการยกเลิกการใช้ในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน และมีคำสั่งกรมวิชาการเกษตรไม่ให้เกษตรกรใช้หรือครอบครอง หากฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งผลผลิตเสียหายอย่างหนัก แต่กรมวิชาการเกษตร ยังไม่มีมาตรการใด ๆ ที่ชัดเจน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ส่วนการใช้แรงงานกำจัดวัชพืช แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะค่าแรงที่สูงและแรงงานภาคเกษตรที่ไม่เพียงพอ การใช้เครื่องจักรทดแทนมีข้อจำกัด ทั้งด้านภูมิศาสตร์และด้านต้นทุนในการเข้าถึงเครื่องจักรกลที่เหมาะสม
ดังนั้น เกษตรกรจึงทำหนังสือถึง รมว.เกษตรฯ เรียกร้องให้แก้ปัญหาความเดือดร้อนจากแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐที่ไม่เป็นธรรมอย่างเร่งด่วน โดยขอให้ส่งข้อมูลใหม่ไปยัง คกก.วอ. เพื่อทบทวนการยกเลิกสารพาราควอตเร็วที่สุด จากนั้นนำมติของ คกก.วอ.ในการจำกัดการใช้สารพาราควอตมาดำเนินการ ซึ่งเป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดและไม่ส่งผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดทำหนังสือถึง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้หยุดการนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีการใช้สารพาราควอตและสารคลอร์ไพรีฟอสทันที ต้องไม่มีการผ่อนปรนถึงเดือนมิถุนายน 2564 เนื่องจากเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนธุรกิจ ซึ่งเป็นการปฏิบัติ 2 มาตรฐานและไม่คำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภคคนไทยอย่างแท้จริง
“หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รมว.เกษตรฯ จะให้ความเป็นธรรมแก่เกษตรกร เนื่องจากไม่สามารถหวังพึ่งใครได้อีกแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ต้องปกป้องและดูแลเกษตรกรให้ประกอบอาชีพได้ และพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ ด้วยความรอบคอบและใจที่เป็นธรรม” นายสุกรรณ์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย