กรุงเทพฯ 10 ส.ค.- อสมท จับมือสำนักงานนวัตกรรม ยกระดับขับเคลื่อนองค์กรรับความเปลี่ยนแปลง
นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง อสมท กับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (เอ็นไอเอ) มีเป้าหมายในการยกระดับและขับเคลื่อน อสมท ไปสู่องค์กรนวัตกรรมโดยมุ่งพัฒนาบุคลากรให้พร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงยกระดับและขับเคลื่อน อสมท ไปสู่องค์กรนวัตกรรม อสมท ยึดยุทธศาสตร์ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นแนวทางในการพัฒนาองค์กรและบุคลากร เป้าหมายในปีนี้คือการพัฒนาบุคลากรให้เหมาะกับสถานการณ์
“เรามีแผนยุทธศาสตร์ แต่พอมีโควิด-19 เข้ามาทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงและปรับแนวทางให้เราจะเน้นการปรับเพิ่มทักษะความรู้ให้บุคลากรให้ทำงานรองรับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภค ภายใต้ความร่วมมือน่าจะทำให้ อสมท ขับเคลื่อนองค์ไปสู่ทิศทางที่เหมาะสม” นายเขมทัตต์ กล่าว
ด้านนายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมสื่อได้รับผลกระทบจาก Digital Disruption เป็นอย่างมากโดยเฉพาะในสื่อสิ่งพิมพ์วิทยุและโทรทัศน์ดังนั้นการพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมสื่อจึงเปรียบเสมือนทางรอดที่จะนำพาให้ธุรกิจยังสามารถก้าวต่อไปได้ ความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะร่วมกันพัฒนาองค์กรสื่อให้เห็นความสำคัญและนำนวัตกรรมเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินงานมากขึ้นโดยมุ่งสร้างเครื่องมือในการประเมินและผลักดันองค์กรให้มีการพัฒนาการบริหารจัดการศักยภาพด้านนวัตกรรมขององค์กรการพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
“ นวัตกรรมสื่อมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น สถาบันมองผลกระทบไว้ 2 ส่วน นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านเนื้อหาที่จะเพิ่มมูลค่า สำหรับ อสมท เป็นรัฐวิสาหกิจ ที่ต้องรับใช้สังคมและสร้างรายได้ไปด้วย สถาบันได้พัฒนาเครื่องมือในการวัดความเป็นองค์กรนวัตกรรม สถาบันฯ หวังว่าเครื่องมือนี้จะช่วยสนับสนุน อสมท ให้ทราบว่า ขณะนี้องค์กรอยู่ในสถานการณ์อยู่ในระดับไหน และควรต้องเพิ่มความรู้ให้บุคลากรอย่างไร การแข่งขันของสื่อทำให้เกิดผู้เล่นหลากหลายโดยเฉพาะที่รู้จักกันกลุ่มผู้มีอิทธิพลบนสื่อโซเชียลไม่ว่าจะเป็นอินฟลูเอนเซอร์ บล็อกเกอร์ หรือยูทูบเบอร์ ที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายและกำลังจะมีบทบาทมากขึ้น ซึ่งมีข้อดีคือทำให้ผู้บริโภคได้เห็นเนื้อหาที่มีความหลากหลายคนทั่วไปสามารถผันตัวเป็นสื่อและสร้างรายได้เกิดการแข่งขันอย่างอิสระระหว่างผู้เล่น รวมทั้งสื่อขนาดใหญ่ที่ต้องปรับตัวสร้างสรรค์เนื้อหาให้ตรงใจกับผู้รับชมและแข่งขันกันในการดึงเม็ดเงินโฆษณาเข้ามาสู่รูปแบบการนำเสนอเนื้อหามากกว่ารูปแบบโฆษณาที่เคยเห็นบนหน้าจอทีวี สิ่งพิมพ์ ทำให้วงการสื่อของไทยเริ่มมีสีสันมากขึ้นและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง” นายพันธุ์อาจ กล่าว. -สำนักข่าวไทย