รัฐสภา 7 ส.ค.-“ปิยบุตร” ย้ำต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกมาตรา 279 เกี่ยวกับการรับรองประกาศคำสั่ง คสช.เป็นกฎหมาย และมาตราที่เกี่ยวกับ ส.ว.ตามบทเฉพาะกาล เหตุภารกิจ ส.ว.ตามบทเฉพาะกาลได้สิ้นสุดลงแล้ว
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กล่าวถึงการประชุมของคณะกรรมาธิการ ฯ ในวันนี้ (7 ส.ค.) ว่า จะมีการหารือกันในบทเฉพาะกาล ซึ่งส่วนตัวมองว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาหลายเรื่อง โดยเฉพาะในบทเฉพาะกาลที่บัญญัติไว้เพื่อสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยตนจะนำความคิดเห็นนี้เข้าไปอภิปรายในชั้นกรรมาธิการ
“สิ่งที่จะต้องแก้ไข คือ การยกเลิกมาตรา 279 ที่รับรองให้บรรดาประกาศคำสั่งและการใช้อำนาจต่าง ๆ ของ คสช.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเสมือนหลุมดำของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะไปยกเว้นหลักกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญให้กับการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.ในห้วง 6-7 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น บทเฉพาะกาลชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า ต้องมีผลใช้บังคับชั่วคราว แต่มาตราสุดท้ายอย่าง 279 กลับถูกบังคับใช้ตลอดกาล แบบนี้จึงไม่ใช่บทเฉพาะกาล แต่เป็นบทสืบทอดการใช้อำนาจต่าง ๆ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช.” นายปิยบุตร กล่าว
นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า ในมาตรา 269 มาตรา 270 , 271 และ 272 ซึ่งเกี่ยวข้องกับ ส.ว. ตามบทเฉพาะกาล 250 คน มีวาระอยู่ในตำแหน่ง 5 ปีนั้น ส่วนตัวมองว่า ภารกิจของ ส.ว.ในขณะนี้ ตามบทเฉพาะกาลได้สิ้นสุดลงแล้ว เนื่องจากได้โหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ดังนั้นเพื่อความยุติธรรมต่อทุกฝ่าย ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ส.ว. 250 คน ควรยุติบทบาทเหล่านี้ และจะสามารถลงสมัคร ส.ว.ได้ตามช่องทางปกติต่อไป อีกทั้งไม่ต้องกังวลเรื่องการออกกฎหมายเพื่อการปฏิรูป เพราะเสียงของรัฐบาลขณะนี้ชนะฝ่ายค้านอย่างท่วมท้น
นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 นั้น ยังต้องใช้เสียงของ ส.ว. 84 คนเป็นอย่างน้อย ดังนั้น ตนขอความร่วมมือไปยัง ส.ว.ทั้ง 250 คนว่าหากยังอยู่ในตำแหน่ง ส.ว.แบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ความชอบธรรมของ ส.ว.จะลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ แต่หาก ส.ว.คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นเหล่านี้ ก็เท่ากับว่าเป็นการคัดค้านเพื่อประโยชน์ของตัวเอง
“ทั้งมาตรา 256 และมาตราที่เกี่ยวกับ ส.ว. รวมถึงมาตรา 279 ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้น สามารถเสนอไปพร้อม ๆ กันได้ทุกประเด็น เช่น สามารถเสนอไปพร้อมกัน 3 ฉบับได้ คือ ฉบับหนึ่งยกเลิก ส.ว.บทเฉพาะกาล ฉบับที่ 2 ยกเลิกมาตรา 279 และฉบับสุดท้าย แก้ไขมาตรา 256 และจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งทั้ง 3 ฉบับนั้น ใน 2 ฉบับแรก สามารถทำได้เร็ว เพราะเป็นการยกเลิกมาตรา จึงไม่ต้องมานั่งถกเถียงกันเหมือนการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ และที่สำคัญที่สุดใน 2 ฉบับแรกเกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองของนิสิตนักศึกษาและเยาวชน เพราะอย่างน้อยที่สุด หากตอนนี้ได้รับการแก้ไข เชื่อว่าจะทำให้อุณหภูมิร้อนแรงของการชุมนุมจะสามารถบรรเทาเบาบางลงได้บ้าง” นายปิยบุตร กล่าว.-สำนักข่าวไทย