สนง.ผู้ตรวจการแผ่นดิน 3 ส.ค.-ผู้ตรวจการแผ่นดินเชิญผู้แทนหน่วยเกี่ยวข้องคุยหลังเกิดเหตุทหารอียิปต์-ครอบครัวทูตซูดาน ย้ำเตรียมมาตรการรองรับหลังผ่อนคลายแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงาน แนะรัฐช่วยลดค่าใช้จ่ายผู้ประกอบการที่ต้องกักตัวแรงงาน
พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีแขกวีไวพีของรัฐบาลเดินทางเข้าประเทศโดยไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีตัวแทนหน่วยงานต่าง ๆ ร่วม ประชุม อาทิ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก น.พ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
ภายหลังการประชุม พล.อ.วิทวัส แถลงว่า การประชุมเป็นไปเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานรัฐ ภายหลังปรากฏกระแสข่าวแขกวีไอพีของรัฐบาลทั้งเจ้าหน้าที่ทหารอียิปต์ ครอบครัวนักการทูตซูดานเข้าประเทศไทยแต่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้ประชาชนมองว่าศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 : ศบค.) การ์ดตกเสียเอง ซึ่งจากการหารือเลขาธิการสมช.ชี้แจงถึงการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ในระยะต่อไปให้กับ 5 กลุ่ม คือ กลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพจาก 5 ประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อต่ำ ทีมงานถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศ แรงงานต่างด้าว การสัมมนาระดับนานาชาติ และผู้ถืออิลิดการ์ด ซึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยผู้ที่เข้ามาจะต้องทำข้อตกลงพิเศษเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
“ที่ประชุมมีความกังวลกรณีแรงงานต่างด้าว ซึ่งรัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการกรณีที่ต้องกักตัวแรงงานต่างด้าวที่จะกลับมาทำงานในประเทศ ที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายคนละ 20,000 บาท แม้พยายามจะปรับลดแล้วเหลือคนละ 13,200 บาท ซึ่งจะมีเพียงผู้ประกอบการรายใหญ่ที่สามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้ ศบค.แจ้งว่าเรื่องดังกล่าวได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงแรงงานหารือร่วมกัน โดยเบื้องต้นกำหนดสถานที่กักตัวหลายแห่งเพื่อรองรับแรงงานต่างด้าว นอกจากนี้ที่ประชุมยังยืนยันว่าระบบติดตามตัวหรือแอปพลิเคชั่นไทยชนะ ยังมีความจำเป็น แต่ปัญหาคือการบังคับใช้
พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า กรณีของคนไทยที่อยู่ต่างประเทศและต้องการจะเดินทางกลับมาอยู่กับครอบครัว ที่ประชุมรับทราบว่าเรื่องการตรวจคัดกรองก่อนเดินทางไม่มีปัญหา เครื่องบินที่จะไปรับก็ไม่มีปัญหา แต่มีปัญหาที่ความไม่แน่นอนของคนไทยที่ลงทะเบียนไว้แล้วยกเลิกการเดินทางกลับ ทำให้การดำเนินการงานไม่เป็นไปตามแผนงาน เนื่องจากคนไทยกลุ่มดังกล่าวที่ยกเลิกตั้งข้อสังเกตว่าไทยอาจจะยกเลิกการกักตัวและยกเลิกพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งตนย้ำว่าไม่ว่าจะมีพ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ การกักตัว 14 วันยังจำเป็น เพราะการกักตัวถือว่ามีคุณภาพสูงสุดในการเฝ้าระวังคัดกรองโรคโควิด -19
“กระทรวงต่างประเทศควรประชาสัมพันธ์ให้คนไทยรับทราบว่า เมื่อ ศบค.มีคำสั่งผ่อนปรนให้ 5 กลุ่มนี้ ต่างชาติเดินทางเช้ามาได้แต่ยังต้องเข้มเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนทราบว่าการควบคุม ซึ่งเป็นข้อจำกัดเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่หากปล่อยให้เกิดการระบาดของโรคอีก จะส่งผลทางด้านเศรษฐกิจเช่นกัน จึงต้องรักษาสมดุลทั้งสองเรื่อง ซึ่งศบค.ไม่ได้หวังจะรักษาตัวเลขผู้ติดเชื้อให้เป็นศูนย์ แต่ควรพอเหมาะกับขีดความสามารถที่โรงพยาบาลจะรับรักษาได้ และโรคไม่แพร่ขยายมากเกินไป” พล.อ.วิทวัส กล่าว
เมื่อถามย้ำว่าแสดงว่าจะยังคงมีพ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปใช่หรือไม่ ประธานผู้ตรวจฯ ชี้แจงว่า เลขาธิการสมช.รายงานว่าเกรงจะมีการนำพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปผูกกับสถานการณ์การเมือง แต่หัวใจสำคัญคือเรื่องการกักตัว 14 วัน ซึ่งเป็นเรื่องของการละเมิดสิทธิ ถ้าไม่มีพ.ร.ก.ฉุกเฉินจะไม่สามารถบังคับกักตัว 14 วันได้ รัฐบาลพยายามหาทางออก ซึ่งได้แนะนำว่าให้ดูว่าใน พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อว่ามีข้อความใดที่จะนำไปออกเป็นพระราชกำหนดที่ให้สามารถบังคับกักตัวใช้ทดแทนพ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ จะได้ใช้กฎหมายนั้นมาทดแทน แต่ขณะนี้ยังไม่มี ดังนั้น คนไทยต้องเข้าใจว่าเรื่องการกักตัว เป็นมาตรการสำคัญการคัดคนติดเชื้อกับคนไม่ติดเชื้อออกจากกัน ถ้าไมมีมาตรการนี้จะเป็นอันตรายกับคนไทยส่วนใหญ่
เมื่อถามว่าได้หารือถึงปัญหาการรับรองบุคคลวีไอพีกับตัวแทนศบค.หรือไม่ พล.อ.วิทวัส กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงให้เข้าใจว่าหลังเกิดปัญหาแล้วในวันที่ 17 กรกฎาคมได้เชิญผู้แทนของสถานทูตในประเทศไทยมาทำความเข้าใจ แม้มีความสัมพันธ์ แต่ขอให้รักษามาตรการป้องกันโควิด-19 ซึ่งทุกประเทศตอบรับ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ได้มีผู้ร้องมาที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่เป็นความปรากฏต่อผู้ตรวจการแผ่นดินว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากเหตุดังกล่าว.-สำนักข่าวไทย