กทม.2 ส.ค. มีการจัดเสวนาระดมความคิดและแนวทางปรับการดำเนินงาน หลังเกิดกรณีฟ้องร้องจากการผลิตหนังกึ่งสารคดี”นกเงือกเทือกเขาบูโด”
เวทีเสวนาหัวข้อ”พัฒนากองทุนสื่อฯ พัฒนาสื่อสร้างสรรค์” มีนายธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช.,นายชาญ สร้อยสุวรรณ ตัวแทนเครือข่ายเพื่อนจืดและผู้รับทุนกองทุนสื่อ, นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานคณะกรรการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร นักสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมเสวนา หลังเกิดปัญหากรณีศึกษาของนายเข็มทอง โมราษฎร์ หรือจืด กลุ่มเด็กรักป่า และผู้กำกับภาพยนตร์ “นกเงือกเทือกเขาบูโด” เดินตามทางรถไฟจากจังหวัดสุรินทร์มายังกรุงเทพฯ รวมเวลา 22 วัน เพื่อไปแก้ข้อกล่าวหา หลังถูกกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ฟ้องศาลปกครองกล่าวหาว่า ไม่ได้ส่งงานตามงวดและเรียกเงินคืน 800,000 บาท สืบเนื่องจากทางกองทุนพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ฯ ได้ให้ทุนผลิตภาพยนตร์กึ่งสารคดีเรื่อง “นกเงือกเทือกเขาบูโด (TheBeautifulHornbills)” เมื่อปี 2560-2561 วงเงิน 2 ล้านบาท ทำสัญญาแบ่งจ่าย 4 งวด งวดแรก 10 เปอร์เซ็นต์ อีก 3 งวดๆละ 30 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงการต่อสู้เรียกร้องขอความเป็นธรรม และอยากให้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบระบบการบริหารงานของกองทุนสื่อสร้างสรรค์ดังกล่าวด้วยว่ามีความโปร่งใส เป็นธรรม และจริงใจในการทำสื่อแบบสร้างสรรค์จริงหรือไม่ นับเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญยิ่ง ในการสนับสนุนการสร้างสรรค์สื่อเพื่อประโยชน์ ทั้งในแง่ตีความที่มีการฟ้องร้องระหว่างกองทุนและคู่สัญญาเป็นครั้งแรก และประเด็นบทบาทการทำงานของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์อันเป็นสาธารณประโยชน์ เครือข่ายคนทำงนด้านสื่อชุมชน สื่อสร้างสรรค์สังคม
นายเข็มทอง หรือ จืด กล่าวว่า เป็นปัญหาที่กองทุนฯ ไม่เข้าใจรายละเอียดการทำงาน คนที่ได้รับทุนในแต่ละพื้นที่ ว่ามีความยากลำบากมากน้อยแค่ไหน และเริ่มมีปัญหาเงินงวดที่ 2 ที่ไม่ได้รับเงิน อ้างเหตุผล ว่าองค์กรเพิ่งก่อตั้ง ทำให้มีปัญหาจัดสรรงบฯล่าช้า จึงได้ยื่นหนังสือยกเลิกสัญญาประมาณงวด 3 มีการเซ็นยกเลิกจาก อดีตผู้จัดการกองทุน ต่อมากลับถูกฟ้องร้อง จากกองทุนฯ เรียกเงินงวดคืนและแจ้งสัญญาที่ขอยกเลิกไปก่อนหน้านั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยวันพรุ่งนี้(3 ส.ค.)จะเดินทางไปแก้คำฟ้องที่ศาลปกครอง
ส่วน นายชาญ 1 ในผู้รับทุนจากกองทุนดังกล่าว สะท้อน ทั้งเรื่องที่ดี และเรื่องที่กองทุนควรปรับแก้ไข โดยที่ดีนั้นมองว่ากองทุนเปิดโอกาส ให้สื่ออื่น เช่น สื่อศิลปะ เข้ามาร่วมรับทุน แต่อยากให้มีพื้นที่กับกลุ่มอื่นๆ มากขึ้นด้วย และควรปรับกระบวนการทำงาน เช่นกระบวนการยื่นรับทุนงวดที่ 2 ที่มีการอ้างอิงเอกสารสัญญาต่างๆมากเกินไป ทำให้เกิดการสูญเสียงานที่ทำไว้ก่อนหน้านี้ จึงอยากเห็นการทำงานที่มีส่วนร่วมกันมากขึ้นและมีสื่อสร้างสรรค์
ขณะที่นายธนกร กล่าวว่า กองทุนสื่อฯ มีหน้าที่เสริมสร้าง การมีส่วนร่วมประชาชนอย่างกว้างขวาง ยอมรับที่ผ่านมา องค์กรยังไม่เป็นที่รู้จัก ดังนั้น กองทุนต้องมีส่วนปรับปรุงในหลายเรื่อง เช่น เรื่องกลไกระหว่าง กองทุนกับผู้รับทุนที่มีการสื่อสารกันน้อย ทำให้เกิดปัญหาตามมา ส่วนเรื่องปัญหา ของนายเข็มทอง หรือจืด เชื่อมั่นว่า ศาลปกครองจะให้ความเป็นธรรมได้.-สำนักข่าวไทย