รัฐสภา 31 ก.ค.- “ชวน ชี้การเรียกคนมาแจงในกมธ. ต้องอยู่ในกรอบของกฎหมายและตามข้อบังคับ หากจะบังคับใช้ พรบ.คำสั่งเรียก ก็ต้องเข้าหลักเกณฑ์ ด้านอดีตกรธ. เชื่อพรบ.คำสั่งเรียกฯ ไม่น่าขัดรัฐธรรมนูญ 60 แต่การจะบังคับใช้ต้องสมเหตุสมผล และต้องผ่านประธานสภา แนะแก้ ใช้โทษทางปกครองแทนโทษอาญา
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่ประธานคณะกรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ระบุจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกับ การไม่สั่งฟ้องคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ทายาทกระทิงแดง หากไม่มา 2 ครั้งจะออกคำสั่งเรียกและถ้ายังไม่มาอีก จะดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คำสั่งเรียกว่า การเรียกตัวบุคคลมาชี้แจงจะต้องเป็นไปตามอำนาจของคณะกรรมาธิการ ซึ่งต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย และต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และต้องเรียกคนที่เกี่ยวข้องมาเท่านั้น ไม่ใช่ใช้อำนาจตามอำเภอใจซึ่งในระเบียบข้อบังคับระบุไว้ชัดเจน และการจะดำเนินการ ถึงขั้นลงโทษหรือไม่ก็จะต้องเข้าหลักเกณฑ์ซึ่งมีกำหนดไปอยู่แล้ว
ด้านนายอุดม รัฐอมฤต กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ไทย พุทธศักราช 2560 สภาผู้แทนราษฎรและอดีตโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า พรบ.คำสั่งเรียกเกิดขึ้นโดยผลของรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่กำหนดให้คณะกรรมาธิการของสภามีอำนาจในการเรียกคนมาให้ข้อเท็จจริง สืบเนื่องมาจากมาตรการในการหาข้อเท็จจริงไม่สามารถบังคับใครได้ รัฐธรรมนูญปี 2550 จึงเปิดช่องให้ไปออกกฎหมาย เพื่อให้มีอำนาจในการบังคับ และส่งผลถึงการมีโทษในกรณีผู้ที่ฝ่าฝืน โดยเป็นโทษอาญา ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวยังคงอยู่ แม้รัฐธรรมนูญปี 50 เลิกใช้ไปแล้ว จึงมีคำถามตามมาว่ากฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะตามรัฐธรรมนูญปี 60 ไม่ได้เขียนให้อำนาจบังคับไว้ และเรื่องนี้ได้มีการไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญแล้ว แต่ยังไม่ได้มีคำวินิจฉัยออกมา
นายอุดม กล่าวว่า ตอนยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้คิดว่าจะให้อำนาจ คณะกรรมาธิการ ถึงขั้นเอาผิดกับคนไม่มาชี้แจง ถึงขั้นดำเนินคดีอาญา เพราะมองว่าควรดำเนินการในกรณี ที่ทำผิดร้ายแรงมากกว่า ดังนั้นส่วนตัวมองว่า การจะใช้อำนาจของกรรมาธิการในการไปดำเนินคดีกับใคร กรณีที่ ไม่ให้ความร่วมมือมาชี้แจง ควรต้องสมเหตุสมผล และหากจะ ดำเนินการอะไร ต้องขึ้นอยู่กับ วินิจฉัยของ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตนมองว่า พระราชบัญญัติ คำสั่งเรียกฯไม่น่าจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
“ผมมองว่าการใช้อำนาจในส่วนนี้น่าจะเป็นเรื่องที่สภาจะพิจารณาความเหมาะความควรเอง ว่ากลไกในส่วนนี้จะ จะยังคงให้ใช้กฎหมาย ลักษณะนี้หรือไม่ ซึ่งต้องแล้วแต่ผู้มีอำนาจ ที่ดูแลคณะกรรมาธิการชุดไหน หรือจะให้ประธานสภาเป็นผู้พิจารณาว่าเห็นควรใช้มาตรการทางอาญาหรือไม่ ซึ่งผมเห็นว่าใครที่มีสิทธิ์ในการดำเนินการคนนั้นต้องเป็นคนชี้ ซึ่งกรณีนี้ ก็ควรให้ประธานสภา เป็นผู้เห็นชอบ หากประธานคณะกรรมาธิการเห็นว่าเชิญใครแล้วไม่มา แล้วต้องการใช้ กฎหมายคำสั่งเรียกเพื่อดำเนินคดี” นายอุดม กล่าว
นายอุดม กล่าวว่า ในทางปฏิบัติ ควร ต้องมีการปรับปรุงแก้ไข กฎหมายฉบับนี้ ไม่เช่นนั้นแล้วจะถูกมองว่าเป็นเครื่องมือ ของคนที่จะใช้เล่นงานกัน ซึ่งตอนยกร่างรัฐธรรมนูญก็มีการพูดประเด็นนี้ ว่าหลายครั้งคณะกรรมาธิการก็แสดงอำนาจ ในสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล แต่ไม่ได้เป็นทุกคนหรือทุกชุด แต่ก็มองกันว่า หากปล่อยไว้ก็จะเกิดความเหลื่อมล้ำในการใช้กฎหมาย จึงเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด โดยอาจจะปรับ แก้โทษไปใช้ในทางปกครองแทนที่จะเป็นอาญา.-สำนักข่าวไทย