กรุงเทพฯ 29 ก.ค. – ยอดใช้น้ำมันของประเทศปี 63 คาดลดลงร้อยละ 8.7 สร้างประวัติการณ์ลดลงสูงสุดตั้งแต่ประเทศไทยเคยใช้น้ำมัน เหตุผลกระทบโควิด-19 ขณะที่ครึ่งปีแรกหดตัวถึงร้อยละ 13.8 รอ รมว.พลังงานคนใหม่ตัดสินใจยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 และเดินหน้าบล็อกเชนซื้อบี 100 ส่วน 3 โรงกลั่นฝันสลายรัฐยืนยันประกาศมาตรฐานยูโร 5 คงเดิม 1 ม.ค.67
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันครึ่งแรกของปี 2563 (ม.ค.-มิ.ย.) ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 13.8 ส่วนทั้งปีคาดว่าจะสร้างสถิติใหม่ลดลงสูงสุดตั้งแต่ประเทศไทยเคยใช้น้ำมัน เนื่องจากผลกระทบของโควิด 19 ทำให้ ยอดใช้เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้วที่มียอดใช้ 157.33 ล้านลิตร นับว่าลดลงร้อยละ8.7 หรือมีการใช้ปีนี้เฉลี่ย 143.59ล้านลิตร/วัน โดยยอดการใช้นี้เป็นการประเมินจากผู้ค้าน้ำมันที่มีการประเมินยอดขายทั้งปี ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าผู้ค้าประเมินจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือจีดีพี จะลดลงเท่าใด จากที่ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประเมินจีดีพีไทยปีนี้ลดลงร้อยละ 8.1 ซึ่งปกติการใช้น้ำมันจะเติบโตใกล้เคียงกับจีดีพีของประเทศ โดยปลายปีที่แล้วคาดว่าการใช้น้ำมันปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 2-3
“การใช้น้ำมันของประเทศปกติจะโตใกล้เคียงกับจีดีพีของประเทศ โดยที่ผ่านมาเคยลดต่ำสุดช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ที่ลดลงร้อยละ 0.4 และเดิมคาดปีนี้ยอดใช้น้ำมันจะโตร้อยละ 2-3 แต่เมื่อเจอโควิด-19 ผู้ค้าน้ำมันประเมินใหม่ล่าสุดคาดการใช้ลดลงถึงร้อยละ 8.7” นางสาวนันธิกา กล่าว
สำหรับการคาดการยอดใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทั้งปี 2563 แยกเป็นผลิตภัณฑ์ คาดว่ากลุ่มเบนซินจะมียอดใช้ 31.18 ล้านลิตร/วัน ลดลงร้อยละ 3.1 กลุ่มดีเซลเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 หรือมียอดใช้เฉลี่ยน 67.66 ล้านลิตร/วัน น้ำมันเครื่องบินคาดว่าจะลดลงถึงร้อยละ 43.5 เหลือเพียง 10.93 ล้านลิตร/วัน ก๊าซหุงต้มลดลง ร้อยละ 15.8 เหลือ 14.99 ล้าน กก./วัน ก๊าซเอ็นจีวี ลดลงร้อยละ 4.8 เหลือ 5.13 ล้าน กก./วัน โดยคาดว่าครึ่งหลังการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้น หลังจากช่วงครึ่งแรกลดลงหนักจากสาเหตุสำคัญมาจากภาครัฐได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19
ส่วนการประกาศบังคับใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติยังคงประกาศตามเดิม 1 มกราคม 2567 แม้ว่า 3 โรงกลั่นน้ำมัน จากที่ประเทศไทยมี 6 โรงกลั่นฯ เสนอให้เลื่อนออกไป 1 ปี เพราะการก่อสร้างได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ต่อต้านโควิด-19 ขณะที่มาตรฐานรถยนต์ยูโร 5 ทางคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมจะให้ประกาศใช้ในปี 2567 เช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้ทางกรมฯ ได้แจ้งให้ทุกโรงกลั่นฯรับทราบและเร่งรัดให้เดินหน้าตามแผน
สำหรับเรื่องที่เตรียมเสนอ รมว.พลังงานคนใหม่ มาพิจารณาเป็นเรื่องต่อเนื่อง เช่น การประกาศใช้อี 20 เป็นน้ำมันพื้นฐานของกลุ่มเบนซิน หากได้รับความเห็นชอบเมื่อใด ก็คาดว่าจะประกาศใช้ได้ในอีก 9 เดือนถัดไป ซึ่งจะมีการยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 ควบคู่กันไป เพื่อทำให้ชนิดน้ำมันของประเทศไทยมีลดลง ส่วนไบโอดีเซล บี 10 จะเดินหน้าประกาศเป็นน้ำมันพื้นฐานตามแผน คือ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นไป โดยยอดใช้บี 10 มีความนิยมเพิ่มขึ้นคาดปลายปีจะมียอดใช้ 50 ล้านลิตร/วัน ต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่คาดว่าจะมียอดใช้ 57 ล้านลิตร/วัน เป็นผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้ยอดใช้เชื้อเพลิงชีวภาพลดต่ำกว่าคาด นอกจากนี้ จะเสนอให้พิจารณาว่าจะเดินหน้าการนำบล็อกเชนมาซื้อขายบี 100 ต่อหรือไม่ หลังจากที่มีการทดลองรับซื้อด้วย 3 โรงงานบี 100 เมื่อวันที่ 15-19 กรกฎาคม 2563 ซึ่งใช้ราคาบี 100 ที่ 23.16 บาท/ลิตร สามารถซื้อผลปาล์มดิบได้ที่ 3.20-3.60 บาท/กก. เป็นราคาที่สูงกว่าราคาประกาศของกรมการค้าภายในที่ 2.70-3.40 บาท/กก. โดยขณะนี้กรมฯ กำลังรวบรวบผลดีผลเสีย เพื่อเสนอ รมว.พลังงานคนใหม่พิจารณาต่อไป
สำหรับภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันครึ่งแรกของปี 2563 (ม.ค.-มิ.ย.) ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 13.8 หรือมียอดใช้ 137.7 ล้านลิตร/วัน ขณะที่จำนวนสถานีบริการเชื้อเพลิงสิ้นไตรมาส 2/2563 รวมทุกประเภทอยู่ที่ 29,156 แห่ง โดยจำนวนปั๊มเปรียบเทียบระหว่างไตรมาส 2 และไตรมาส 1 ปี 63 ลดลงประมาณ 200 แห่ง
สำหรับยอดใช้น้ำมัน แยกเป็นรายผลิตภัณฑ์ ครึ่งแรกปี 2563 พบว่า กลุ่มเบนซินมียอดใช้เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 29.7 ล้านลิตร/วัน ลดลงร้อยละ 7.6 การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 65.6 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 4.9, การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 9.9 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 49.5 เนื่องด้วยยังคงอยู่ในช่วงมาตรการที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ประกาศห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราวไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 จึงส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ, การใช้ LPG เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 15.0 ล้าน กก./วัน ลดลงร้อยละ 16.0 โดยการใช้ภาคขนส่งลดลงมากที่สุด เฉลี่ยอยู่ที่ 2.0 ล้าน กก./วัน ลดลงร้อยละ 30.6 รองลงมาเป็นภาคปิโตรเคมี ใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 6.0 ล้าน กก./วัน ลดลงร้อยละ 19.3 ภาคอุตสาหกรรมใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 1.6 ล้าน กก./วัน ลดลงร้อยละ 10.4 และภาคครัวเรือนเฉลี่ยใช้อยู่ที่ 5.4 ล้าน กก./วัน ลดลงร้อยละ 6.4 ,การใช้ NGV เฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 4.0 ล้าน กก./วัน ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 28.4
ส่วนการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงมีปริมาณรวมลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เฉลี่ยอยู่ที่ 918,547 บาร์เรล/วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 9.5 โดยการนำเข้าน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 893,508 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 4.3 คิดเป็นมูลค่าเฉลี่ย 40,269 ล้านบาท/เดือน เนื่องจากเดือนมิถุนายน 2563 ยังคงอยู่ในช่วงหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่น และโรงแยกก๊าซธรรมชาติ รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่อง สำหรับน้ำมันสำเร็จรูปเป็นการนำเข้าน้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG โดยมีปริมาณนำเข้าลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ 25,039 บาร์เรล/วัน คิดเป็นอัตราลดลงร้อยละ 69.4 คิดเป็นมูลค่านำเข้าเฉลี่ยรวม 1,253 ล้านบาท/เดือน การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เฉลี่ยอยู่ที่ 203,647 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.7 คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวมเฉลี่ย 8,891 ล้านบาท/เดือน .-สำนักข่าวไทย