กรุงเทพฯ 21 ก.ค. – กบร.ไฟเขียวเปิดช่องแก้วิกฤติสายการบิน อนุมัติแนวทางให้กองทุนรวม-กองทุนสำรองเลี้ยงชีพในประเทศเข้ามาลงทุนในสายการบินได้ กพท.เด้งรับเตรียมแก้กฎหมาย เพื่อให้ดำเนินการใน 3 เดือนข้างหน้า
นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) ที่มีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน มีมติให้ กพท.แก้ไขกฎหมายออกเป็นกฎกระทรวงฯ เพื่อกำหนดให้กองทุนรวมต่าง ๆ และหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถเข้ามาลงทุนในสายการบินในประเทศได้ จากเดิมไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวก่อนจะประกาศให้มีผลบังคับใช้ใน 3 เดือน
สำหรับสาเหตุที่มีการแก้ไขกฎหมาย เพื่อเปิดให้กองทุนต่าง ๆ สามารถเข้ามาลงทุนในหุ้นสายการบินได้ เนื่องจากทางสายการบินได้แจ้งมายัง กพท. เพื่อขอปลดล็อกประเด็นนี้ เนื่องจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานระดมทุนผ่านกองทุนรวมจำนวนมาก และเลือกเข้ามาลงทุนในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้สายการบินหมดโอกาสที่จะให้กองทุนเข้ามาลงทุน ประกอบกับเพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุนช่วงที่ภาวะตลาดเอื้ออำนวยและช่วยสถานการณ์ของสายการบินได้ หากเกิดวิกฤติ ทั้งนี้ เงื่อนไขของกองทุนที่จะเข้ามาลงทุนในสายการบินในประเทศนั้นจะกำหนดให้เฉพาะกองทุนในประเทศเท่านั้นที่มีสิทธิ์มาลงทุน
นอกจากนี้ ที่ประชุม กบร.ยังพิจารณาทบทวน (ร่าง) แผนแม่บทห้วงอากาศและการเดินอากาศแห่งชาติ ซึ่งจากเดิมจะเป็นการบริหารแผนแม่บทระยะเวลา 10 ปี เป็นการทบทวนและวางแผนเพื่อรองรับในระยะ 3 ปีข้างหน้า เพื่อให้การบริหารจัดการห้วงอากาศและความมั่นคงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อใช้ประโยชน์จากน่านฟ้าต่อไปในอนาคต โดยกระทรวงคมนาคม กพท.ได้มอบหมายให้บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) ไปบริหารจัดการและประสานงานกับกองทัพอากาศที่จะนำห้วงอากาศในกิจการทหารและความมั่นคง ในช่วงที่ไม่ใช้มาบริหารจัดการในพลเรือนได้แบบยืดหยุ่น โดยมีการคาดการณ์ว่าใน 3 ปีจากนี้หากบริหารจัดจราจรทางอากาศจะสามารถรองรับปริมาณจราจรทางอากาศได้กว่าปีละ 1.2 ล้านเที่ยวบินจากปัจจุบันรองรับได้ 1 ล้านเที่ยวบินต่อปี
นายจุฬา กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาอนุมัติให้ บวท.สามารถบริหารจัดจราจรทางอากาศได้โดยไม่มีระยะเวลากำหนด จากเดิมทำสัญญากับกระทรวงคมนาคมเป็นผู้จัดบริหารจราจรทางอากาศ ซึ่งสัญญาเดิมจะหมดอายุปี 2564 โดยตามขั้นตอนเมื่อ กบร.อนุมัติแล้วทางกระทรวงคมนาคมจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป สำหรับสาเหตุที่ต้องเสนอเป็นมติ ครม. เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่าการจัดจราจรในห้วงอากาศของประเทศ ถือเป็นความมั่นคงส่วนหนึ่ง.-สำนักข่าวไทย