กรุงเทพฯ 6 ก.ค.-กระทรวงเกษตรฯ
เตรียมนำผลการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
เข้าสู่ที่ประชุม ศบค. ประจำสัปดาห์
โดยล่าสุดรวบรวมรายชื่อเกษตรกรที่มีสิทธิ์รับเงินเยียวยาเกษตรกรได้เกือบ 7.6 ล้านราย โดยวันที่ 8 ก.ค. นี้ ธ.ก.ส. จะโอนเงินให้เกษตรกรที่ผ่านการพิจารณาอุทธรณ์เพิ่ม
พร้อมนำเสนอผลโครงการแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรข้ามภาคเพื่อช่วยกระจายสินค้าในช่วงที่การส่งออกยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ
นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า
ได้รายงานผลการดำเนินงานช่วยเหลือเกษตรกรต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.)
ทำเนียบรัฐบาลว่า
ล่าสุดมีรายชื่อเกษตรกรที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของกระทรวงเกษตรฯ
แล้วพบว่า อยู่ในเกณฑ์ได้รับเงินเยียวยาเพิ่ม ทำให้ขณะนี้เกษตรกรที่มีสิทธิ์รวม 7,596,747 ราย ซึ่งสถานการณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
มีแผนการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรงวดที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 15
– 22 ก.ค. 37,983.735 ล้านบาท
ส่วนการโอนเงินให้เกษตรกรเงินงวดที่ 1 ของเดือนพฤษภาคม
โอนเล้ว7,396,845 รายและเงินงวดที่ 2
ของเดือนมิถุนายนโอนแล้ว 7,308,752 ราย โดยที่เหลือธ.ก.ส.
ยังไม่สามารถโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรได้ 121,394
รายเนื่องจากเกษตรกรไม่ได้ แจ้งเลขที่บัญชีรับโอนเงิน
ชื่อบัญชีไม่ตรงกับชื่อผู้ได้รับสิทธิ์ บัญชีถูกอายัด
ซึ่งขอให้เกษตรกรแจ้งช่องทางการโอนได้ที่ www.เยียวยาเกษตรกร.com
หรือแจ้งผ่านเจ้าหน้าที่เกษตรระดับภูมิภาคให้อำนวยความสะดวกในการส่งข้อมูลมายังธ.ก.ส.
เพื่อเร่งรัดการโอนเงินช่วยเหลือให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้เกษตรกรที่ยื่นอุทธรณ์หรือมีรายชื่อว่า ได้รับสิทธิ์ แต่ยังไม่ได้รับเงิน
ขอให้ตรวจสอบสิทธิ์ ที่ www.moac.go.th หรือแอปพลิคชั่น “เกษตรดิจิทัล-Digital Farmer”
กระทรวงเกษตรฯ รายงานอีกว่า การอุทธรณ์ทบทวนสิทธิ์ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. – 5 มิ.ย. มีเกษตรกรขอยื่นเรื่องอุทธรณ์ เยียวยา 192,510 ราย ได้ตรวจสอบความถูกต้องและซ้ำซ้อนแล้วคงเหลือ 189,663 ราย ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาการอุทธรณ์พบว่า เกษตรกรที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์
105,404 ราย นื่องจากได้รับสิทธิ์จากโครงการเราไม่ทิ้งกัน
มีสถานะเป็นผู้ประกันตน เป็นข้าราชการประจำ ลูกจ้าง
และข้าราชการบำนาญจึงยกคำอุทธรณ์ ส่วนเกษตรกรที่เข้าหลักเกณฑ์ 73,975 รายซึ่งได้ส่งรายชื่อให้ ธ.ก.ส. เพื่อจ่ายเงินต่อไป ขณะนี้คงเหลือเกษตรกรที่รอผลการพิจารณาซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบ
10,284 ราย ทั้งนี้หากผ่านการพิจารณา
จะยังไม่เกินกรอบที่ครม. อนุมัติหลักการไว้ให้ช่วยเหลือได้ 10 ล้านราย
นอกจากนี้ยังรายงานถึงกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร
และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้บูรณาการร่วมกับกองทัพอากาศ ตามโครงการทัพฟ้าช่วยไทย
ต้านภัยโควิด-19”
ภายใต้แนวคิด “ทัพฟ้ามาประชิด
ช่วยธุรกิจเพื่อสังคม” ซึ่งกอบทัพอากาศสนับสนุนเครื่องบินขนส่งสินค้าเกษตรแลกเปลี่ยนกันข้ามภูมิภาคได้แก่
จังหวัดยโสธรนำข้าวหอมมะลิ กข.105 จำนวน 9 ตันแลกกับปลาแห้งของจังหวัดภูเก็ต 36 ตัน จังหวัดพะเยานำข้าวหอมมะลิและมะม่วงรวม
10 ตันแลกกับปลาฉิ้งฉ้าง กะปิ และมังคุดของจังหวัดพังงารวม 3.48
ตัน และจังหวัดศรีสะเกษนำข้าวหอมมะลิ 10 ตัน
แลกกับปลาฉิ้งฉ้างและกะปิของจังหวัดพังงารวม 1.7 ตัน
โดยเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาการระบายสินค้าเกษตรออกสู่ตลาดซึ่งส่วนที่เคยส่งจำหน่ายต่างประเทศไม่สามารถส่งออกได้
ขณะเดียวกันการจำหน่ายในประเทศมีความไม่สะดวกด้านการขนส่ง
ดังนั้นการนำอากาศยานมาสนับสนุนจึงช่วยให้ระบายสินค้าเกษตรได้อย่างรวดเร็วและตรงความต้องการของเกษตรกรรวมทั้งผู้บริโภคซึ่งอยู่ในภูมิภาคห่างไกลกันเพื่อให้ได้รับสินค้าเกษตรที่มีความหลากหลาย.-สำนักข่าวไทย