กรุงเทพฯ 28 มิ.ย.-เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต พร้อมครอบครัวเหยื่อแท็กซี่เมาแล้วขับ2ศพ บาดเจ็บ5 ย่านรามคำแหง ร้องขอความเป็นธรรม รมว.คมนาคม หลังผู้ก่อเหตุขับรถหมดสภาพ ไม่ต่อ พ.ร.บ.ขาดประกันวิ่งบริการ หวั่นเหยื่อเสียสิทธิที่ควรได้ตามกฎหมาย
นางสาวเครือมาศ ศรีจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต นายอธิวัฒน์ เนียมมีศรี เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน พร้อมด้วยนายเกียรติคุณ สุวรรณศิริ สามีผู้เสียชีวิต กรณีแท็กซี่เมาแล้วขับ ชนเสียชีวิต2ศพ บาดเจ็บ5ราย ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร้องขอความเป็นธรรม กรณีผู้ก่อเหตุ ไม่ทำประกันภัยรถยนต์ ไม่ต่อ พ.ร.บ.ทะเบียนหมดอายุ สภาพรถไม่พร้อมใช้งาน รถหมดอายุ นำรถออกวิ่งทั้งที่ดื่มแอลกอฮอล์ จนเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน และมีความสุ่มเสี่ยงที่ครอบครัวผู้ตายและผู้ได้รับบาดเจ็บจะเสียสิทธิในการดูแลช่วยเหลือตามกฎหมาย และเรียกร้องให้ตรวจสอบและจัดระเบียบการให้บริการรถโดยสารสาธารณะเถื่อน และทำให้ผู้ขับรถโดยสารสาธารณะแอลกอฮอล์เป็น 0 อย่างเป็นรูปธรรม
นายอธิวัฒน์ฯ กล่าวว่า จากกรณีรถแท็กซี่ชนรถจักรยานยนต์ ปากซอยรามคำแหง 60/1 เมื่อวันที่12 มิถุนายน 2563 ทำให้มีผู้เสียชีวิต2ราย โดยเป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง1ราย และเป็นคนเดินเท้า1 ราย ผู้บาดเจ็บสาหัส 5 ราย โดยเป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ 1 ราย //รถจักรยานยนต์รับจ้าง 2 ราย คนเดินเท้า 1 ราย ผู้ประกอบอาชีพขายกาแฟ ปากซอยรามคำแหง 60/1 จำนวน 1 ราย รวมทั้งทรัพย์สินในบริเวณที่เกิดเหตุเสียหายประมาณ 8,000,000 บาท จากการตรวจสอบพบว่าผู้ขับขี่รถแท็กซี่มีการตรวจวัดแอลกอฮอล์ได้ 147 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และรถที่นำมาใช้ ไม่มีการต่อ พ.ร.บ. และไม่มีประกันภัย ซึ่งอาจเป็นผลให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตและบรรดาผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนี้ต้องเสียสิทธิในการคุ้มครองดูแลตามกฎหมายหลายประการ ประกอบกับเครือข่ายตรวจสอบพบว่ารถแท็กซี่นิติบุคคลที่สังกัดสหกรณ์ หรือบริษัทต่างๆ หมวดอักษรที่หมดอายุคือ ทฉ, ทต, ทท, ทธ, ทน, ทพ, ทม, ทย, ทร, ทล, ทว และหมวด ทศ 1 – 6498 และกรณีเป็นแท็กซี่ส่วนบุคคลสีเขียวเหลืองนั้น หมวดอักษรที่หมดอายุคือ ทจ, มก, มข, มค, มง, มจ และหมวด มฉ 1 – 9439 ผลปรากฎพบว่ามีการนำมาให้บริการประชาชนอยู่เป็นจำนวนมาก ตามสถานีขนส่งต่างๆ และห้างสรรพสินค้าชั้นนำทั่วไป ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมไปถึงบริเวณสถานีขนส่งรถไฟฟ้า BTS
นางสาวเครือมาศฯ กล่าวว่ากระทรวงคมนาคม ควรมีมาตรการที่เข้มงวดต่อรถโดยสารสาธารณะที่ประชาชนนิยมใช้บริการ คือรถแท็กซี่ รถตู้ และรถจักรยานยนต์รับจ้าง โดยเฉพาะสภาพรถที่ไม่ควรนำรถหมดอายุมาใช้งาน การจดทะเบียน การตรวจวัดแอลกอฮอล์คนขับเพื่อป้องกันกรณีเมาแล้วขับ ฯลฯ เพื่อสร้างมาตรฐานการให้บริการรถโดยสารสาธารณะ มีความปลอดภัยสูงสุด และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการ และขอความเป็นธรรมให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ที่สุ่มเสี่ยงในการเสียสิทธิจากเหตุการณ์นี้
“เครือข่ายขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อกระทรวงคมนาคมเพื่อพิจารณาปัญหารถโดยสารสาธารณะ ดังต่อไปนี้ 1. ขอให้พิจารณามาตรการช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตและบรรดาผู้บาดเจ็บ ซึ่งกรณีนี้ผู้ก่อเหตุนำรถแท็กซี่ที่ไม่อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานมาขับขี่ ไม่มีการต่อ พ.ร.บ. ไม่มีประกันภัย สุ่มเสี่ยงที่ผู้เสียหายจะไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมาย เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อครอบครัว 2. ขอให้มีการตรวจสอบสภาพรถโดยสารสาธารณะ กรณีหมดอายุการใช้งาน การต่อทะเบียน โดยกฎหมายบังคับต้องทำประกันทั้ง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และการทำประกันภัยประเภทที่ 3 (ขั้นต่ำ) ให้ครบถ้วนก่อนนำมาให้บริการแก่ประชาชน เพราะปัจจุบันยังมีรถที่ทะเบียนหมดอายุการใช้งานออกมาให้บริการอยู่เป็นจำนวนมาก 3. ตรวจสอบอู่รถแท็กซี่กรณีแท็กซี่นิติบุคคลที่สังกัดสหกรณ์หรือบริษัทต่างๆ และกรณีที่เป็นแท็กซี่ส่วนบุคคลว่าละเลยการต่อทะเบียนรถ หรือการตรวจสภาพรถหรือไม่ รวมถึงการตรวจสอบประวัติผู้เช่ารถว่ามีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ชอบดื่มสุราเป็นประจำหรือไม่ เพราะจากกรณีที่เกิดขึ้นได้สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน ต่อบุคคลที่ใช้ชีวิตบนถนนร่วมกัน หากเจ้าของอู่แท็กซี่หรือบุคคลที่เป็นเจ้าของรถละเลยควรมีการเอาผิดอย่างเด็ดขาดไปถึงด้วย 4. เพิ่มมาตรการกวดขันจุดตรวจให้ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ เพิ่มเวลาตรวจในช่วงกลางคืน เนื่องจากผู้กระทำผิดดังกล่าวมักจะลักลอบนำรถที่หมดอายุการใช้งาน มาให้บริการแก่ประชาชนโดย และ 5. กำกับพฤติกรรมของคนขับรถสาธารณะให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ไม่ขับเร็ว ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เจ้าหน้าที่รัฐต้องตรวจสอบรถและคนขับรถทุกคันอย่างจริงจังไม่มีข้อละเว้น เพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำความผิด ที่มีผลกระทบต่อความปลอดภัยในการให้บริการขนส่งสาธารณะ”นางสาวเครือมาศ กล่าว. -สำนักข่าวไทย