ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 21มิ.ย.-รองผู้บัญชาการทหารบก รับฟังความเห็นของกลุ่มผู้ประกอบการผับ บาร์ หลังเรียกร้องให้เปิดกิจการได้ตามปกติ และขอแนวทางเยียวยาหลังขาดรายได้ ช่วง โควิด-19 เตรียมส่งผลหารือให้ศบค.ชุดใหญ่ พิจารณาสัปดาห์หน้า
พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะประธานคณะทำงานกลั่นกรองกิจการและกิจกรรมตามมาตรการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 และในฐานะกรรมการ ศบค.ชุด เล็ก หารือร่วมกับตัวแทนผู้ประกอบการผับ บาร์ และคาราโอเกะ ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล เพื่อพูดคุยและรับฟังข้อเสนอในการวางแนวทางการผ่อนคลายมาตรการสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการดังกล่าว
พลเอกณัฐพล กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้เพื่อนำมติเข้าสู่ที่ประชุม ศูนย์บริหาร สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยเหลือเยียวยาประชาชน อีกทั้งในขณะนี้ เป็นการผ่อนคลายระยะที่สี่ ซึ่งการผ่อนคลายจะต้องให้ความสำคัญ 2 ข้อใหญ่ คือกิจการ-กิจกรรม ต้องคำนึงถึงความจำเป็นและความเสี่ยง รวมถึงผลกระทบของเศรษฐกิจและสังคม ว่าอะไรมีความจำเป็นมากกว่ากัน จะต้องทำเปรียบเทียบกัน ความพร้อมในส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการ รวมถึงความพร้อมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแล ซึ่งการแก้ปัญหาที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี ได้ย้ำว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น เกิดจากความร่วมมือของคนไทยทุกคนในการทำตามมาตรการของภาครัฐ และการผ่อนคลายในระยะเวลาที่ผ่านมา ภาครัฐได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ส่วนตัวยอมรับว่า ศบค. ไม่สามารถที่จะติดตามได้ทุกธุรกิจ และในวันนี้จะมารับทราบถึงปัญหาที่ผู้ประกอบการมาพูดคุยกัน เพื่อรับทราบถึงข้อปัญหาทุกอย่างที่พูดคุยกัน แล้วนำมาเป็นข้อสรุปในการผ่อนคายกิจการ-กิจกรรม ต่อไป
นายสง่า เรืองวัฒนกุล นายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจถนนข้าวสาร กล่าวว่า ความลำบากของที่ผู้ประกอบการถนนข้าวสารได้พบเจอ คือ ก่อนการผ่อนคลายระยะที่ 4 ผู้ประกอบการไม่ได้รับอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวมถึงมาตรการเคอร์ฟิว ทำให้ผู้มาใช้บริการไม่สามารถใช้บริการได้เกินกำหนดระยะเวลาที่ภาครัฐจะกำหนดไว้ แต่ทั้งนี้ ยังมีธุรกิจชนิดอื่นที่ไม่ใช่ ผับ บาร์ หรือสถานบันเทิง เช่น ร้านอาหารเป็นธุรกิจที่สามารถผ่อนปรนได้ เพราะร้านค้าแต่ละร้านทำตามมาตรการที่รัฐกำหนดไว้ ส่วนตัวเชื่อว่า ผู้ประกอบการทุกคนเชื่อมั่นในการทำงานของ ศบค. ที่ทำให้ไม่เกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศเป็นระยะเวลา 28 วัน แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการ คือ หากบางธุรกิจต้องลดจำนวนพนักงาน หรือลูกจ้างออกไป ภาครัฐจะมีนโยบายช่วยเหลืออย่างไร ทุกคนอยากเห็นมาตรการที่เป็นรูปธรรม หากยังไม่ปลดล็อกให้ธุรกิจสถานบันเทิง ภาครัฐจะช่วยยังไง ส่วนตัวขอแค่ให้ภาครัฐช่วยผ่อนคลายเพราะผลกระทบกระทบนั้น ส่งผลให้กลุ่มนักดนตรี ที่ไม่ใช่พนักงานประจำ ไม่มีรายได้ ซึ่งจะได้รับค่าตอบแทนต่อครั้ง ในการมาแสดงดนตรี ตนจึงอยากจะเสนอให้ภาครัฐมามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างชัดเจน พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลคลายล็อกธุรกิจกลางคืนบางประเภท เช่น ร้านที่แยกกันนั่งเฉพาะกลุ่มคนที่มาด้วยกัน ให้กลับมาเปิดกิจการได้ แต่หากรัฐยังไม่ปลดล๊อก ก็ควรมีมาตรการเยียวยาทางผู้ประกอบการและอาชีพในธุรกิจกลางคืน เนื่องจากมาตรการเยียวยาอาชีพอิสระ 5,000 บาท ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย
กลุ่มผู้ประกอบการและอาชีพในธุรกิจกลางคืน ยังเรียกร้องขอให้มีมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม อาทิ ขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟท์โลน 5 ปี , ขอยกเว้นภาษีสรรพษามิต 5 ปี หรือจนกว่าเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด19 ฟื้นตัว , ยืดระยะเวลาพักชำระหนี้บ้าน รถ สิ้นเชื้อส่วนบุคคล สินเชื่อระยะสั้น อีก 3 เดือน โดยมาตรการเหล่านี้ เพื่อเป็นข้อเสนอให้ที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่พิจารณา.-สำนักข่าวไทย