กรุงเทพฯ 18 มิ.ย. – สำนักงานชลประทานที่ 6 เตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากฤดูฝนพื้นที่ลุ่มน้ำยัง ส่วนฝนตกต่อเนื่องภาคอีสานตอนกลางส่งผลดีน้ำไหลเข้าอ่างฯ แต่วอนเกษตรกรใช้น้ำฝนเป็นหลัก เพราะจำเป็นต้องเก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุด
นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 ติดตามการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากฤดูฝนปี 2563 ในพื้นที่ลุ่มน้ำยัง อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยเร่งรัดการขุดลอกตะกอน กำจัดวัชพืช เพื่อเปิดทางน้ำบริเวณสะพานข้ามน้ำลำพะยัง ตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง ตามนโยบายของอธิบดีกรมชลประทานที่ได้สั่งการให้สำนักงานชลประทานทุกแห่งวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงที่เกิดอุทกภัยซ้ำซากและให้วางมาตรการเร่งป้องกันและบรรเทาภัยที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่เสี่ยง
สำหรับลำน้ำยังมีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาภูพาน อำเภอเขาวง ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และบางส่วนของยโสธร รวมระยะทาง 225 กิโลเมตร ช่วงต้นลำน้ำยังในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์มีลักษณะกว้างและลาดชันมาก ความจุลำน้ำประมาณ 546 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ส่วนช่วงท้ายก่อนบรรจบกับลำน้ำชีในเขต อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด มีลักษณะแคบลง คดเคี้ยวมีกุด และหนองมาก ความจุลำน้ำประมาณ 206 ลูกบาศก์เมตร/วินาทีจึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมบริเวณอำเภอเสลภูมิ เป็นประจำเกือบทุกปีเนื่องจากไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน แต่พอถึงฤดูแล้งมักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำเนื่องจากแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอ ปัจจุบันปริมาณน้ำยังอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย ต่ำกว่าตลิ่งเฉลี่ยประมาณ 6 เมตร เช่นเดียวกับอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 8 แห่งในพื้นที่มีน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย จึงมีช่องว่างเก็บกักน้ำได้อีกมาก
สำนักงานชลประทานที่ 6 เตรียมรับมือปัญหาอุทกภัยในลุ่มน้ำยังตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ตามมาตรการของกรมชลประทาน โดยวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยซ้ำซาก ควบคุมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่าง กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ให้เจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด จัดสรรเครื่องจักร-เครืองมือได้แก่ เครื่องสูบน้ำ รถขุด Sheet Pile กระสอบทราย และอื่นๆ ที่จำเป็นให้เพียงพอและอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา นอกจากนี้ยังนำเครื่องจักรเข้าไปเปิดทางน้ำเพื่อกักเก็บน้ำ-ชะลอน้ำ-หน่วงน้ำให้มากที่สุดตามเกณฑ์ที่จะเป็นไปได้ ซึ่งจะลดผลกระทบในพื้นที่ด้านล่างลำน้ำยัง 3 จุดคือ ที่ประตูระบายน้ำบุ่งเบ้า กุดปลาเข็ง และบ้านบาก โดยจะตัดยอดน้ำลงห้วยวังหลวง และแก้มลิง รวมถึงนำเครื่องจักรเข้าไปขุดลอกตะกอนทรายที่ฝายท่าลาดคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคมนี้
นายศักดิ์ศิริ กล่าวว่า ฝนที่ตกต่อเนื่องระยะนี้ส่งผลให้มีน้ำไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำบ้างแล้ว แต่กรมชลประทานยังเน้นการกักเก็บน้ำเพื่อให้เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ตั้งแต่วันที่ 15-17 มิถุนายนมีน้ำไหลเข้าเขื่อนขนาดใหญ่ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ และเขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิรวม 15.87 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 69 แห่งในพื้นที่ 5 จังหวัดคือ ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม และร้อยเอ็ด มีน้ำไหลเข้าสะสม รวม 4.39 ล้าน ลบ.ม. โดยฝนที่ตกลงมาในพื้นที่อีสานกลางทั้ง 5 จังหวัด ยังไม่มีรายงานพื้นที่ถูกน้ำท่วมขังได้รับความเสียหาย
นายศักดิ์ศิริ กล่าวต่อว่า แม้ว่าระยะนี้ในหลายพื้นที่มีฝนตกลงมาพอสมควร แต่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม ฝนอาจจะน้อยหรือเกิดภาวะทิ้งช่วงได้ จึงขอให้เกษตรกรเริ่มเพาะปลูกเมื่อฝนตกชุกหรือมีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับทำการเกษตร โดยขอให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก ส่วนน้ำต้นทุนที่มีอยู่ หากมีปริมาณเพียงพอเหมาะสมจะสนับสนุนการเกษตรเพื่อเสริมฝนกรณีฝนทิ้งช่วงและจะสำรองไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศน์ให้เพียงพอจนถึงสิ้นฤดูแล้งปี 2563/2564.-สำนักข่าวไทย