ทำเนียบฯ 17 มิ.ย.-“วิษณุ” ยันผู้ว่าราชการจังหวัดต้องกล้าตัดสินใจควบคุมพื้นที่ หากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เผยมอบเลขาธิการ สมช.หารือร่วมฝ่ายเกี่ยวข้อง ใช้อำนาจ พ.ร.บ.โรคติดต่อ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการพิจารณาใช้กฎหมายอื่นทดแทนการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ว่า ตนให้ไปพูดคุยและประเมินกันเองในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด19) หรือ ศบค. ว่าจะใช้กฎหมายฉบับใด แต่ตนได้แนะนำหลายแนวทาง ซึ่ง ศบค.ต้องคุยกับกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายปกครอง และฝ่ายความมั่นคง โดยให้ พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธานและตัวกลางในการเจรจา
เมื่อถามถึงความเป็นห่วง หากใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อแทน พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น จะเกิดความยุ่งยากในการบริหารจัดการหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้บอกถึงความยุ่งยากหลายอย่าง จึงให้กระทรวงสาธารณสุขไปพิจารณาถึงความพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาขนาดไหน เพราะหากมีการเปิดสนามบิน จะมีนักท่องเที่ยวแบบ Travel Bubble หรือแม้แต่คนไทยเดินทางกลับประเทศ หากส่งสัยว่าติดเชื้อ จะมีอำนาจสั่งอย่างไรให้ไปกักตัวในสถานกักตัวของรัฐ และสถานที่นั้นจะเป็นที่ใด รวมถึงใครเป็นคนสั่ง
“ที่สำคัญที่สุด คือ เรื่องค่าใช้จ่าย และการจัดการในพื้นที่ หากสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้หมด ก็สามารถวางใจได้ แต่หากติดปัญหาอยู่ ก็ต้องคิดกันใหม่อีก ซึ่งนอกจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว จะมีเพียง พ.ร.บ.โรคติดต่อเท่านั้นที่สามารถใช้ในการควบคุมสถานการณ์ได้ โดย พ.ร.บ.โรคติดต่อ ถูกออกแบบมาให้มีอำนาจบริหารจัดการได้น้อย เนื่องจากมีข้อจำกัดในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค อย่างไรก็ตาม ยังสามารถใช้ได้ แต่เชื้อโควิด-19 เมื่อเข้ามาใหม่ ๆ นั้นรับมือยาก แต่ตอนนี้รับมือได้แล้ว เป็นเพียงแต่เกรงกลัวสถานการณ์ในอนาคตเท่านั้น แต่ถ้าเป็นที่วางใจในวันนี้ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ใน 22 วัน หากไม่พบผู้ติดเชื้อไปเรื่อย ๆ ก็วางใจได้” นายวิษณุ กล่าว
เมื่อถามว่า หากยังใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ แต่ไม่ใช่การบังคับใช้แบบเต็มรูปแบบ จะสามารถควบคุมโรคได้ดีหรือไม่ นายวิษณุ ยอมรับว่า หากมี พ.ร.ก.อยู่ สามารถควบคุมโรคได้ แต่ที่กลัวกัน เพราะ พ.ร.ก.สามารถให้อำนาจต่าง ๆ ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีอำนาจในมาตรา 9 ที่สามารถออกคำสั่งได้ 6 เรื่องที่จะเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ในการออกมาตรการที่กระทบประชาชน และหากตัด 6 เรื่องนั้นออกไป เรื่องที่จะไม่กระทบประชาชน คือ มาตรา 7 คือการให้อำนาจเจ้าหน้าที่นอกเหนือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ควบคุมโรค เพราะเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคเป็น เจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข แต่หากบูรณาการตำรวจ ทหาร พลเรือน อาสาสมัคร และ อสม.เข้ามาทำงาน ซึ่งบุคลากรเหล่านั้นต้องทำงานด้วยความเชื่อมั่นและมั่นใจในตัวเอง และผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถออกคำสั่งได้ โดยไม่วิตกกังวลว่าจะมีคนไปฟ้องศาลปกครอง จนทำให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่ ก็สามารถใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อได้
“ดังนั้นจะให้ฝ่ายปกครองสอบถามผู้ว่าราชการจังหวัด หากใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 77 จังหวัดต้องเป็นผู้บริหารและจัดการ เนื่องจากนายกรัฐมนตรี ครม. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่มีอำนาจในการสั่งการ ด้วยพระราชบัญญัติโรคติดต่อ และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ซึ่งกลุ่มบุคคลเหล่านี้สามารถทำงานด้วยความมั่นใจ รัฐก็สามารถปล่อยให้ปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่ถ้าไม่กล้าสั่งการ ลูบหน้าปะจมูกด้วยความเกรงใจกัน อย่างการสั่งปิดสถานที่หากเกิดเหตุ จะกล้าปิดหรือไม่ แต่ถ้าไม่กล้าปิด รัฐจึงต้องมีมาตรฐานกลาง เพื่อให้เจ้าหน้าที่กล้าดำเนินการ ขณะนี้ไม่สามารถบอกได้ว่าอะไรควรไปทางซ้ายหรือทางขวา จึงต้องให้ไปตกลงกันในที่ประชุมเอง ยอมรับว่าการใช้มาตรฐานกลาง คือ การบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ผมไม่ขอบอกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นสิ่งที่ดีกว่า” นายวิษณุ กล่าว.-สำนักข่าวไทย