ศาลปกครอง 8 มิ.ย.- ศาลปกครองสูงสุดยกฟ้องสหวิริยา กรณีขอเพิกถอนมติ ครม.เห็นชอบขึ้นทะเบียนพรุแม่รำพึง ประจวบคีรีขันธ์ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับชาติ ชี้ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ซ้ำ 17 มาตรการอนุรักษ์ไม่ได้จำกัดสิทธิ์-สร้างภาระในการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเหล็ก แต่ยับยั้งการสูญหายของพื้นที่ชุ่มน้ำ
ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีที่บริษัทเครือสหวิริยา จำกัด และบริษัทโรงถลุงเหล็กสหวิริยา จำกัด ยื่นฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 พฤษภาคม 2552 ที่เห็นชอบการขึ้นทะเบียนรายนามพรุแม่รำพึง ต.แม่รำพึง อ.บางสะพานจ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติและเห็นชอบต่อมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ รวม 17 มาตรการตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 2 /2552 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2552
โดยศาลให้เหตุผลว่า แม้การดำเนินการตามนโยบายการส่งเสริมและการสนับสนุนการผลิตเหล็กขั้นต้น ตามที่บริษัทเครือสหวิริยาฯอ้าง จะตอบสนองความต้องการใช้เหล็กเป็นวัตถุดิบในการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศระยะยาว ลดปริมาณการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศ ก่อให้เกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศไทยในภาพรวม แต่เมื่อสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในบริบทโลก และปัจจัยภายในประเทศ ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลงทุน ทำให้มีการใช้ทรัพยากรเพื่อสนองตอบต่อความต้องการในการพัฒนา จึงส่งผลกระทบต่อสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
เมื่อพิจารณาสภาพพื้นที่พรุแม่รำพึงตามรายงานฉบับสมบูรณ์โครงการสำรวจสภาพพื้นที่ชุ่มน้ำประเภทพรุของประเทศไทย จัดทำโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยเสนอต่อสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว การที่คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบให้พรุแม่รำพึงเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติตามที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเสนอจึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
และเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติในการทบทวนมติ ของคณะรัฐมนตรีวันที่ 1 สิงหาคม 2553 เรื่องขึ้นทะเบียนรายนามพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสําคัญระดับนานาชาติ และระดับชาติของประเทศไทยและมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจำนวน 17 มาตรการ ๆ ดังกล่าวได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักและหน่วยงานสนับสนุน ซึ่งเป็นการจัดให้มีแผนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นระบบและเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลตามที่รัฐธรรมนูญ 50 บัญญัติไว้
ส่วนที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อบริษัทเครือสหวิริยา คือมาตรการที่กำหนดให้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) สำหรับโครงการพัฒนาใด ๆที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสําคัญระดับนานาชาติและระดับชาติ ซึ่งโครงการโรงถลุงเหล็กสหวิริยา มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 100 ตันต่อวัน ต้องมีการทำรายงานตามประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเดิม หรือประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดประเภทและขนาดของโครงการ หรือ กิจการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและหลักเกณฑ์วิธีการระเบียบปฏิบัติและแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2552 อยู่แล้ว
โรงถลุงเหล็กสหวิริยาเคยมีหนังสือถึงสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ขอทราบมาตรการอนุรักษ์เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาประกอบการจัดทำรายงานให้ถูกต้อง แต่จากข้อเท็จจริงโรงงานถลุงเหล็กยังไม่มีความคืบหน้าในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากข้อหารือดังกล่าว ซึ่งมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 ไม่ได้เป็นมาตรการในการจำกัดสิทธิ์หรือสร้างภาระให้แก่บริษัทเครือสหวิริยา ในการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเหล็กอย่างใด แต่เป็นการยับยั้งไม่ให้เกิดการสูญหายของพื้นที่ชุ่มน้ำที่พอสมควรแก่เหตุแล้วยังเป็นการกำหนดและวางแผนการดำเนินการใช้ประโยชน์พื้นที่ชุ่มน้ำอย่างชาญฉลาด ตามวัตถุประสงค์ในการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอีกด้วย มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว.-สำนักข่าวไทย