ทำเนียบฯ 8 มิ.ย.- ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ อนุมัติหลักการการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ขณะที่ นายกรัฐมนตรี แนะแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจ ให้ถือประชาชนเป็นใหญ่
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ครั้งที่ 3/2563 โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายพุทธิพงษ์ ปุณกันต์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมหารือด้วย โดยที่ประชุมได้เห็นชอบหลักการ การปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดยมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณารายละเอียดเพื่อให้สามารถเดินแผนฟื้นฟูให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและทำให้ ขสมก. สามารถฟื้นกลับมามีกำไรและเป็นองค์กรที่น่าภาคภูมิใจได้สำเร็จ โดยจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบหลักการ การปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. โดยมีกรอบการดำเนินการ ครอบคลุมทั้งการจัดหารถโดยสารปรับอากาศ โดยปรับรูปแบบให้เป็นสินทรัพย์เอกชน ลดภาพต้นทุนในการดูแล มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ ปรับปรุงเส้นทางเดินรถไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน เชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ เช่น รถไฟฟ้า เรือ เป็นต้น มีการพัฒนาพื้นที่เชิงธุรกิจโดยดึงภาคเอกชนร่วมลงทุน เพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางของผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ ผลสัมฤทธิ์คาดหวังว่า ในระยะยาวรัฐบาลจะไม่ต้องรับภาระหนี้ของ ขสมก. ลดปัญหาจราจรและมลพิษทางอากาศ ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน และประชาชนสามารถเดินทางได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ขสมก. สามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน องค์การสามารถเลี้ยงตนเองได้ พนักงานมีความภาคภูมิใจในหน่วยงานและเป็นองค์กรที่ยั่งยืน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาแผนฟื้นฟูและการบริหารจัดการหนี้อย่างละเอียด ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
นางนฤมล กล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงแนวทางของรัฐบาลในการปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. โดยให้ยึดหลักการสำคัญ ได้แก่ มองประชาชนเป็นหลัก ลดภาระและสร้างเพิ่มความพึงพอใจในการใช้บริการ สามารถบริหารจัดการภาระหนี้สินได้โดยไม่กระทบหลักการงบประมาณ องค์การมีความสามารถในการชำระหนี้ เพิ่มความคล่องในการการจราจร เชื่อมโยงระบบคมนาคมทั้ง รถ ราง เรือ สร้างความสะดวกสบายในการเดินทางของประชาชนมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มเติมอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ภายในประเทศ เช่น การต่อรถ เป็นต้น ที่สำคัญต้องไม่ลืมดูแลลูกจ้าง พนักงาน และท้ายที่สุด สินทรัพย์ที่มีมูลค่าจะต้องมีการบริหารจัดการที่ดีภายใต้ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำในที่ประชุมถึงแนวทางทั้งหมดนี้ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพขององค์กรและบุคลากร ความเป็นมืออาชีพ เพราะทุกการดำเนินการจะย้อนกลับไปสู่ประชาชน ที่จะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจของรัฐบาล.-สำนักข่าวไทย