กทม. 28 พ.ค. – State Quarantine จุดประสงค์หลักคือใช้เป็นสถานที่กักกันโรคของคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ เพื่อเฝ้าระวังผู้ติดเชื้อโควิด-19 จนถึงขณะนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 เข้าพักในสถานกักกันโรคแล้ว 128 คน วันนี้สำนักข่าวไทยพาลงพื้นที่ไปดูการจัดการ และความคุ้มค่าของโรงแรมที่ปรับตัวมาเป็น State Quarantine
พนักงานทำความสะอาดของโรงแรมเดอะภัทรา พระราม 9 เข้ามาตรวจเช็กความเรียบร้อยของห้องพักเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะเปิดรับกลุ่มคนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศในคืนนี้ เพื่อเข้ากักตัวไม่น้อยกว่า 14 วัน ตามมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข ที่นี่ถือเป็นโรงแรมแห่งแรกๆ ที่เปลี่ยนมาเป็น State Quarantine หรือสถานที่กักกันโรค โดยเปิดให้บริการมาแล้วเกือบ 2 เดือน
ผู้บริหารโรงแรมยอมรับว่า การปรับเปลี่ยนครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะ State Quarantine จะต้องเป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด เช่น ต้องมีใบอนุญาต ลักษณะห้องพักต้องเป็นห้องส่วนตัว มีเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน ไม่ปูพรม มีระบบการบำบัดน้ำเสีย มีผู้จัดหาของใช้ และจัดหาอาหารให้ทั้งหมด 3 มื้อ ส่วนพนักงานจะต้องผ่านการอบรม ทั้งการปฏิบัติหน้าที่ และการป้องกันตัวเอง นอกจากนี้ยังมีบุคลากรทางการแพทย์คอยเฝ้าระวังและตรวจวัดอุณหภูมิผู้เข้าพักทุกวัน
ที่นี่ถือเป็นโรงแรม 3 ดาว มีห้องพักทั้งหมด 277 ห้อง มีพนักงานทั้งหมด 60 คน สลับหมุนเวียนมาทำงาน ตั้งแต่ทำอาหาร จัดส่งให้กับผู้เข้าพัก และทำความสะอาดห้อง
ผู้บริหารโรงแรมให้เหตุผลที่ยอมปรับเปลี่ยนโรงแรมเป็น State Quarantine เพื่อพยุงธุรกิจโรงแรม จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้ราคาห้องพักที่รัฐจ่ายให้จะน้อยกว่าราคาห้องที่ขายให้กับนักท่องเที่ยวเกือบเท่าตัว เพียง 1,000 บาทต่อคืน ในจำนวนนี้รวมค่าใช้จ่าย เช่น ค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าบริการอื่น อย่างเงินเดือนพนักงาน ซึ่งเมื่อหักต้นทุนแล้วเหลือเงินไม่มาก ส่วนกรณีมีการแอบอ้างเรียกเก็บค่าหัวคิวการจัดหาผู้เข้าพัก โดยจะหักหัวคิวคนละ 400 บาท มองว่าหากหักหัวคิวไปมาก รายได้ก็ไม่คุ้มกับการดำเนินการ
ข้อมูลจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปัจจุบันมี State Quarantine ทั้งหมด 25 แห่ง สามารถรองรับผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศได้กว่า 8,000 คน จุดประสงค์หลักเพื่อใช้เป็นสถานที่สถานที่กักกันโรค และเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่มักจะเป็นผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ซึ่งมีข้อมูลจาก ศบค.พบว่าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม มีผู้ป่วยโควิด-19 ในสถานกักกันโรคแล้ว 128 คน. – สำนักข่าวไทย