ทำเนียบฯ 26 พ.ค.- ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.วัตถุอันตราย เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย มอบให้ผู้เชี่ยวชาญหรือองค์กรผู้เชี่ยวชาญไทยและต่างประเทศ สามารถตรวจ วิเคราะห์เอกสารและสถานที่ประกอบทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่..) พ.ศ. …. โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตรายเกี่ยวกับการพิจารณาคำขอ การตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร การประเมินเอกสารทางวิชาการ การตรวจวิเคราะห์ การตรวจสถานประกอบการ หรือการดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับวัตถุอันตราย โดยการมอบอำนาจให้แก่ผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ ทำหน้าที่ประเมินเอกสารวิชาการ ตรวจวิเคราะห์ ตรวจสถานประกอบการและอื่น ๆ แทนพนักงานเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานผู้รับผิดชอบ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้กรณีที่มีเหตุจำเป็นเพื่อให้กระบวนการพิจารณาวัตถุอันตรายเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ให้มีผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานของรัฐอื่น ๆ หรือองค์กรเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ทำหน้าที่ในการประเมินเอกสารวิชาการ การตรวจวิเคราะห์ การตรวจสถานประกอบการ หรือการตรวจสอบในกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตรายของส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทั้งนี้ บุคคล หน่วยงาน หรือองค์กรดังกล่าวต้องได้รับการขึ้นบัญชีจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบ ช่วยแก้ปัญหาในกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตรายในปัจจุบันที่มีความซับซ้อนได้ โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วัน ตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
นางนฤมล กล่าวว่า กระบวนการพิจารณาวัตถุอันตรายโดยผู้เชี่ยวชาญฯ ตามร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเป็นเพียงทางเลือกเท่านั้น หากผู้ประกอบการเลือกใช้ผู้เชี่ยวชาญฯ ก็ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้เชี่ยวชาญฯ แต่ถ้าใช้วิธีการอนุญาตปกติซึ่งต้องใช้ระยะเวลาการพิจารณานานกว่า ก็จะไม่มีภาระค่าใช้จ่ายในกระบวนการพิจารณาวัตถุอันตราย โดยเป็นการแก้ไขบทบัญญัติกฎหมายเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นแนวเดียวกับการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ ตามคำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติที่ 77/2559 เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในการพัฒนาอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการสาธารณสุข รวมทั้งเพิ่มมูลค่าการค้าขายเคมีภัณฑ์ (วัตถุอันตรายหรือสารเคมี) ที่เป็น 1 ใน 5 สินค้ายุทธศาสตร์ที่มีการนำเข้าสูงสุดของประเทศด้วย.-สำนักข่าวไทย