โตเกียว 23 เม.ย.- ผลการสำรวจที่เผยแพร่วันนี้ชี้ว่า โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 แพร่ระบาดสร้างความเสียหายอย่างหนักให้แก่เศรษฐกิจใหญ่ในเอเชียในเดือนนี้ เพราะมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมและการปิดธุรกิจส่งผลกระทบหนักต่อธุรกิจภาคบริการ
ไอเอชเอสมาร์กิตเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อหรือพีเอ็มไอ (PMI) ภาคบริการของญี่ปุ่นเดือนเมษายนว่า หดตัวเหลือ 22.8 จุด มากที่สุดตั้งแต่เริ่มทำการสำรวจในเดือนกันยายน 2550 ขณะที่พีเอ็มไอภาคการผลิตลดลงเหลือ 43.7 จุด มากที่สุดนับจากเดือนเมษายน 2552 ไอเอชเอสมาร์กิตชี้ว่า ญี่ปุ่นตอบสนองต่อการระบาดล่าช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น จึงคาดได้ว่า ผลกระทบรุนแรงทางเศรษฐกิจจะยืดเยื้อต่อไปอีก เช่นเดียวกับพีเอ็มไอภาคบริการของออสเตรเลียเดือนเมษายนที่หดตัวเป็นประวัติการณ์ที่ 19.6 จุด และพีเอ็มไอภาคการผลิตที่ลดลงเหลือ 45.6 จุด
ด้านเกาหลีใต้ ประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับสี่ของเอเชียที่พึ่งพาการค้าเป็นหลักแจ้งตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสแรกของปีนี้ว่า ลดลงร้อยละ 1.4 จากไตรมาสก่อน มากที่สุดตั้งแต่ปี 2551 เฉพาะการบริโภคภาคเอกชนลดลงถึงร้อยละ 6.4 มากที่สุดนับจากไตรมาสแรกปี 2541 ช่วงวิกฤตการเงินเอเชียที่ลดลงมากถึงร้อยละ 13.8 นักเศรษฐศาสตร์คาดว่า เศรษฐกิจจะหดตัวต่อไปอีกอย่างน้อยหนึ่งไตรมาส เพราะสถานการณ์การส่งออกจะยังย่ำแย่ต่อไป แม้การบริโภคจะดีขึ้นตามการใช้จ่ายการคลังที่เพิ่มขึ้นก็ตาม
กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF) คาดการณ์เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า เศรษฐกิจเอเชียปีนี้จะไม่เติบโตเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี เพราะวิกฤตโควิด-19 ทำให้ภาคบริการของภูมิภาคนี้ได้รับผลกระทบหนักอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน.- สำนักข่าวไทย