โรงพยาบาลศิริราช 16 เม.ย.- นายกฯ เดินทางไปยัง รพ.ศิริราช ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของคณะแพทย์และบุคลากรในการดูแลรักษาและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 พร้อมตรวจดูการใช้งาน เครื่องมือ AI เพื่อวิเคราะห์โรคเชื้อโควิด-19 ห่วงทำอย่างไรให้ระบบการตรวจสอบและการค้นหาตัวผู้ป่วยดำเนินการได้เร็วขึ้นและค่าใช้จ่ายลดลง และบุคลากรทางการแพทย์มีความปลอดภัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 9.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของคณะแพทย์และบุคลากรในการดูแล รักษา และป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ที่โรงพยาบาลศิริราช พร้อมตรวจดูการใช้งาน เครื่องมือ AI ( Artificial Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์ เพื่อวิเคราะห์โรคเชื้อ COVID 19 ซึ่ง Huawei ได้มอบให้กับโรงพยาบาลศิริราช เพื่อใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ เพื่อป้องกันและรักษาโรค ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมตรวจเยี่ยมด้วย โดยมีนายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณะบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พร้อมคณะผู้บริหารให้การต้อนรับ
ระหว่างที่นายกรัฐมนตรีรับฟังการบรรยายการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว นายกรัฐมนตรีแสดงความเป็นห่วงว่าจะทำอย่างไรให้ระบบการตรวจสอบและการค้นหาตัวผู้ป่วยดำเนินการได้เร็วขึ้นและค่าใช้จ่ายลดลง ตลอดจนทำอย่างไรให้บุคลากรทางการแพทย์มีความปลอดภัย และ AI จะเข้ามาช่วยอย่างไรให้ทันสมัยกับข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน
จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้พูดผ่านเทเลคอนเฟอร์เรนซ์ไปยังห้องปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยโควิด ที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อรับผลฟังความก้าวหน้า ผลสำเร็จทางการทำงาน พร้อมระบุว่า รู้สึกภูมิใจกับโรงพยาบาลศิริราช ที่ได้ดำเนินการในการใช้เครื่องมือนี้ในระยะแรก รู้สึกซาบซึ้งในการทำงานของทีมแพทย์ที่มีความเสี่ยงอยู่ใกล้ผู้ป่วยมากที่สุด หัวใจสำคัญของรัฐบาลคือมุ่งหมายให้ประชาชนปลอดภัยและเจ้าหน้าที่ก็ปลอดภัย ดังนั้น อุปกรณ์สิ่งใดที่มีปัญหาในช่วงแรกนั้น ในเวลานี้เริ่มคลี่คลายแล้ว และพยายามหาความร่วมมือใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น ซึ่งในวันก่อนมีการประชุมทางไกลกับอาเซียน โดยเฉพาะเรื่องสาธารณสุขที่ได้มีการหารือกัน ไทยนั้นมีบทบาทนำในเชิงพฤตินัยและได้ส่งชุดทดสอบจากบริษัทสยามไบโอไทย ที่ไทยผลิตได้ไปเป็นตัวอย่างให้กลุ่มประเทศอาเซียนได้ดูด้วย
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ระบบ AI นี้ถูกนำไปใช้จริงแล้วในประเทศจีน ทั้งในเมืองอู่ฮั่น และอีกหลาย ๆ เมือง ในส่วนของประเทศไทยได้ติดตั้งแล้วที่ รพ.รามาธิบดี รพ.ศิริราช และจะขยายต่อไปยัง รพ.อื่น ๆ ด้วย
โดยระบบ AI ดังกล่าว เก็บข้อมูลตัวอย่างผลการเอ็กซเรย์ปอดของคนไข้ราว 20,000 ราย ในจำนวนนี้มีผลเอ็กซเรย์ของผู้ป่วยโควิด-19 อยู่ 4,000 ราย ดังนั้น เมื่อแพทย์พยาบาลทำ CT scan เพื่อเอ็กซเรย์ปอดของคนไข้ ระบบจะนำผลจากการเอ็กซเรย์ไปเปรียบเทียบกับตัวอย่างภาพเอ็กซเรย์เพื่อวินิจฉัยว่าคนไข้เข้าข่ายเป็นผู้ป่วยโควิดหรือไม่ โดยแต่ละเคสใช้เวลาวิเคราะห์เพียง 25 วินาทีเท่านั้น เพราะระบบรองรับด้วยเครือข่าย 5G ซึ่งถือว่ารวดเร็วและแม่นยำมาก
ทั้งนี้ ประโยชน์ของระบบ AI จึงช่วยลดความเสี่ยงของทั้งประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์ได้อย่างมาก เนื่องจากการทำ CT Scan ทำให้แพทย์ไม่ต้องสัมผัสกับคนไข้ เมื่อคัดกรองแล้วพบว่ามีความเสี่ยงสูง จึงค่อยเข้าสู่กระบวนการตรวจสารคัดหลั่ง ซึ่งจะใช้เวลาอย่างน้อย 48 ชั่วโมง ในการยืนยันผล
นายกรัฐมนตรี ยังได้พูดคุยกับแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ เพื่อสอบถามการปฏิบัติงานและให้กำลังใจทุกคน โดยย้ำว่าตนและรัฐบาลยกย่องการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นหลักในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งต้องเสียสละ ทำงานหนัก และมีความเสี่ยงอย่างมาก โดยยินดีสนับสนุนทุกวิถีทาง เพื่อดูแลช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน เช่นล่าสุดเมื่อวานนี้ ครม. ก็ได้อนุมัติให้เงินพิเศษ ให้โควต้า 2 ขั้น อายุราชการทวีคูณ จ่ายเงินบุคลากรที่ติดเชื้อ และทำประกันสุขภาพให้ 320,000 กรมธรรม์ เป็นต้น.-สำนักข่าวไทย