กรุงเทพฯ 25 มี.ค. – “เลขาฯศาลยุติธรรม” เผย จนท.ส่วนกลาง สนง.ศาลยุติธรรม work from home ป้องกันการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มได้ 26 มี.ค.นี้
นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้เปิดเผยถึงการทำแผน work from home ของสำนักต่างๆ ส่วนกลาง (21 หน่วย) ในสังกัดสำนักงานศาลุติธรรมว่า หลังจากเมื่อวาน (24 มี.ค.) ที่ตนได้ร่วมประชุมกับหัวหน้าหน่วยงานทั้ง 21 หน่วยถึงหลักการและแนวทางแล้ว ตนก็ได้มีหนังสือแจ้งถึงหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรมดังกล่าวเพื่อทราบแนวทางที่กำหนดไว้ 10 มาตรการ
ขณะที่ล่าสุดวันนี้ (25 มี.ค.) มีหน่วยงานหลายสำนักทยอยเสนอแผนที่จะดำเนิการมาให้ตนพิจารณาแล้ว อาทิสำนักการต่างประเทศ , กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ , ศูนย์ห้องสมุด (ที่ตั้งชั้น 6 อาคารศาลอาญา) โดยลักษณะแผนต่างๆที่เสนอมานั้น เช่นการจัดงานแบ่งเป็นกลุ่ม และจัดงานให้ทำที่บ้าน อาทิมี 2 หรือ 3 ทีม สับเปลี่ยนเวรกันทำงานที่บ้าน ซึ่งต้องมีระบบรายงานการทำงานและติดตามผลงานด้วย อย่างไรก็ดีการเสนอแผนนั้นก็ต้องมีรายละเอียดระบุรูปแบบงาน-ช่วงเวลา-การจัดสรรบุคคลเพื่อการตรวจสอบได้ต่อไป ทั้งนี้คาดว่าภายในวันพรุ่งนี้ (26 มี.ค.) แต่ละหน่วยงานทยอยปฏิบัติตามแผน work from home ได้ทันที ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะทำต่อเนื่องไปจนกว่าสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลายดีขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงาน เกี่ยวกับแนวทางการกำหนดมาตรการ ให้เจ้าหน้าที่ศาลยุติธรรม ลูกจ้าง ทำงานนอกสถานที่ตั้งหรือการทำงานที่บ้าน ลักษณะ Work from Home ได้ชั่วคราวเป็นระยะเวลาตามที่กำหนด ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) มีมติรับทราบในหลักการและมาตรการที่จะใช้เป็นแนวทางให้หัวหน้าหน่วยงานส่วนกลาง สำนักงานศาลยุติธรรม พิจารณานำไปใช้กำหนดมาตรการการทำงานนอกสถานที่ตั้งของแต่ละหน่วยงาน
นายสราวุธ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ได้มีหนังสือลงวันที่ 24 มี.ค.63 ถึงหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม เรื่องมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของหน่วยงาน ช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบุว่า เพื่อเป็นการสนับสนุนการเฝ้าระวัง และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส รวมถึงดูแลคุณภาพชีวิตและการทำงานที่เหมาะสมให้กับข้าราชการศาลยุติธรรม , ลูกจ้าง , พนักงานราชการศาลยุติธรรมในสถานการณ์พิเศษ ที่จะไม่กระทบต่อภารกิจงานสนับสนุนการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล จึงเห็นควรกำหนดมาตรการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของหน่วยงาน ซึ่งมาตรการดังกล่าว กำหนดว่า
1.การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของหน่วยงาน หมายถึงการปฏิบัติงานของข้าราชการศาลยุติธรรม , ลูกจ้าง , พนักงานราชการศาลยุติธรรม นอกสถานที่ทำงานตามปกติ เช่น ในพื้นที่ที่หน่วยงานจัดไว้เป็นสถานที่ทำงานร่วม หรือสถานที่พักของเจ้าหน้าที่ (ลักษณะ work from home) หรือสถานที่อื่นใดที่หน่วยงานเห็นว่าเหมาะสม
2.ผู้อำนวยการ อาจมอบหมายการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของหน่วยงาน เป็นรายวัน/รายสัปดาห์ โดยกำหนดเป้าหมาย , ผลผลิต , ตัวชี้วัดการทำงาน , ระบบวิธีการสื่อสารติดตามการประเมินความก้าวหน้า , การรายงานผลการทำงาน หรือเรื่องอื่นที่พิจารณาเห็นว่ามีความจำเป็นต้องกำหนดตามบริบทการทำงานของหน่วยงานและตามความเหมาะสม รวมถึงให้สอดคล้องกับภารกิจสนับสนุนการพิจารณาพิพากษาคดีและงานที่เป็นความลับโดยไม่ให้เสียหายแก่งานราชการ
3.การมอบหมายปฏิบัติงานนอกสถานที่ฯ ให้ผู้อำนวยการ กำหนดจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ต้องมาปฏิบัติงาน , สถานที่ตั้งของหน่วยงาน , วิธีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปปฏิบัติราชการ ณ สถานที่ตั้งของหน่วยงาน ตามความเหมาะสมโดยไม่ให้เสียหายแก่ภารกิจราชการ
4.การลงเวลาปฏิบัติราชการสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของหน่วยงาน ให้บันทึกในหมายเหตุของบัญชีวันทำการในระบบว่า “ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งวันที่ … ” โดยส่วนของผู้มาปฏิบัติงานตามปกติ ก็ให้ลงเวลาผ่านระบบบันทึกเวลาการมาปฏิบัติราชการตามปกติ
5.การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งฯ ตามมาตรการนี้ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ และผู้ปฏิบัติงานมีสิทธิได้รับเงินเดือน , ค่าตอบแทน , ค่าตอบแทนพิเศษ หรือเงินอื่นใดที่จ่ายเพื่อตอบแทนการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามกฎหมาย
6.ช่วงระหว่างการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งฯ ให้ผู้บังคับบัญชา กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน มีการติดต่อสื่อสารระหว่างกันโดยใช้เทคโนโลยีสนับสนุนในการทำงาน เช่น รายงานความก้าวหน้าของงานทุกวันผ่านทาง E-mail หรือแอพ Line เป็นต้น โดยให้ถือเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้วย ที่ต้องให้ผู้บังคับบัญชาสามารถติดต่อผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้โดยเร็วตลอดช่วงเวลาที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของหน่วยงาน
7.กรณีมีเหตุจำเป็น หรืออาจเกิดความเสียหายแก่ภารกิจราชการ ผู้อำนวยการอาจเรียกให้ผู้ที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งฯ กลับมาปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้งของหน่วยงานก่อนครบกำหนดได้
8.กรณีผู้ที่ปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งฯ ประสงค์จะลาเช่น ลาป่วย , ลากิจ , ลาพักผ่อน ให้เสนอใบลา ผ่านผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ E-mail หรือแอพ Line เป็นต้น
9.การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้อำนวยการที่กำหนดตามมาตรการนี้ หรือปกปิดข้อมูลอันมีเหตุอันควรสงสัยว่าตนมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยไม่แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ ถือเป็นการกระทำความผิดวินัยฐานขัดขืนหรือหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาหรือปกปิดข้อความซึ่งควรต้องแจ้ง
10.มาตรการนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่บัดนี้ (24 มี.ค.63) เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคจะคลี่คลาย หรือสำนักงานศาลยุติธรรมเห็นควรกำหนดเป็นอย่างอื่น .- สำนักข่าวไทย